กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย คาดสัปดาห์หน้า 33.80-34.10 บาท ขณะที่หุ้นไทยมีแนวรับ 1,535-1,555 จุด ตลาดจับตาผลประชุม กนง.
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (26-30 มิ.ย.) เงินบาทขยับอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่ภาพรวมยังคงอยู่ในกรอบแคบตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาททยอยอ่อนค่าลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีสัญญาณสนับสนุนให้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตาม เงินบาทสามารถลดช่วงติดลบลงบางส่วน และดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์มีปัจจัยลบจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอกว่าที่คาด นอกจากนี้ สัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินของ ECB และ BOE ก็เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ทางอ้อมด้วยเช่นกัน สำหรับวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เงินบาทอยู่ที่ 33.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน
สำหรับสัปดาห์หน้า (3-7 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาท 33.80-34.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศ น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายน ยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน และรายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ตลาดน่าจะรอติดตามรายงานการประชุมเฟด รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศ อนึ่ง ตลาดการเงินสหรัฐจะปิดทำการวันที่ 4 กรกฎาคม เนื่องในวันชาติสหรัฐ
ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,574.74 ลดลงร้อยละ 0.48 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.43 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 42,086.31 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 565.71 จุด ลดลงร้อยละ 1.94 จากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม SET Index กลับมาปรับลดลงช่วงกลางถึงปลายสัปดาห์ตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานและการปรับตัวลงของตลาดหุ้นในเอเชีย
สำหรับสัปดาห์หน้า (3-7 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ กนง. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ รายงานการประชุมเฟด และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ PMI ภาคการผลิตของประเทศในยุโรปและเอเชีย และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย.-สำนักข่าวไทย