เจริญนคร 30 มิ.ย. – กรมธนารักษ์ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ มั่นใจสร้างงานสร้างรายได้ชมุชน เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 46,000 ล้านบาทต่อปี ย้ำต้องนำรายได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร ความสูงหอชุมเมือง 459 เมตร บนเนื้อที่ 4.2 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างโดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เงินลงทุน 4,621 ล้านบาท เมื่อศึกษาโครงการเสร็จเตรียมลงนามสัญญาร่วมกับกรมธนารักษ์และเริ่มก่อสร้างในช่วงต่อไป ในสัญญาต้องระบุชัดเจนว่านำรายได้ของมูลนิธิไปใช้ประโยชน์สาธารณะเท่านั้น โดยคิดค่าเช่าที่ราชพัสดุจากฐานราคาตลาด 198 ล้านบาท เพราะใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ราคาประเมินของกรมธนารักษ์มูลค่า 178 ล้านบาทต่อปี โครงการหอชมเมืองฯ จ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ 400,000 บาทต่อปี โดยปีแรกต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าย้ายสถานที่ตำรวจน้ำ และค่าดำเนินการต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 60 ล้านบาท และปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทุก 5 ปี เมื่อหมดสัญญา 30 ปี กรรมสิทธิ์หอชมเมืองกรุงเทพฯ ยังเป็นของรัฐ
นายพชร ย้ำว่า บริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ทำงานของตำรวจน้ำ เมื่อย้ายไปจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่า เมื่อเป็นที่ดินตาบอดเข้าออกคับแคบจึงไม่มีเอกชนขอพัฒนาประโยชน์ เพราะตำรวจน้ำใช้ทางน้ำในการปฏิบัติงาน ดังนั้น เมื่อมูลนิธิหอชมเมืองฯ ผ่านการคัดเลือกในการพัฒนาก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ จากนโยบายประชารัฐร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีหอชมเมือง และยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน เมื่อเป็นแหล่งเที่ยวจะมีร้านค้า ร้านอาหารเกิดขึ้น สร้างงานให้ชุมชน จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 46,857 ล้านบาทต่อปี แม้จะมีผลตอบแทนต่อการลงทุนด้วยระยะเวลาคืนทุนถึง 18 ปี และผลตอบแทนติดลบ 769 ล้านบาทต่อปี แต่เพื่อต้องพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เจริญ
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการมีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับ เป็นการดำเนินงานประชารัฐ ตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย และเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destination เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูงทั้งการออกแบบ วิศวกรรมและการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย นับเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge
นางสาวสมสุข สมทรง ประธานชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ บอกว่า กลุ่มชาวบ้านเห็นด้วยกับแนวทางก่อสร้าง สำหรับการสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียติในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ เพราะเห็นว่ากรุงเทพฯ ยังไม่มีชุมชนสุวรรณภูมิเก่าแก่มานาน ผู้ก่อสร้างควรดูแลผลกระทบการก่อสร้างกับชุมชน และหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการพัฒนาร้านค้า ร้านอาหาร รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยี่ยมชมหอชมเมืองฯ.- สำนักข่าวไทย