ปทุมธานี 14 ก.ค. – กรมสรรพสามิตนำระบบ E-stamp จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มเบียร์ สุรา คาดจัดเก็บภาษีเพิ่ม 8,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาคเอกชนพร้อมรองรับนโยบายของรัฐบาล
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ลงพื้นที่สำรวจระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากผู้ผลิตเบียร์ เพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงใช้เพิ่มเติม จากเดิมใช้เครื่องตรวจวัดแบบมิเตอร์ Flow Meter ซึ่งใช้มานานกว่า 30 ปี และมีความเสี่ยงจากอัตราการสูญเสียระหว่างการผลิต กรมสรรพสามิตจึงได้นำระบบใหม่มาใช้ในการจัดเก็บภาษี เพื่อใช้หมึกพิเศษพิมพ์ลงบนผลิตภัณฑ์ขวดเบียร์ กระป๋องเบียร์ จากนั้นใช้แสงเลเซอร์ในการตรวจนับแต่ละกระป๋อง เรียกว่าระบบ แสดงครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding)
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์กระป๋องและเบียร์ขวดในโรงงานผลิตเบียร์ทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ หลังจากลงนามกับบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท SIPA สวิส ซึ่งผลิตหมึกพิมพ์ธนบัตร คาดว่าจะเริ่มติดตั้งต้นปี 2564 เมื่อนำมาทดแทนระบบการเก็บภาษีเดิม คำนวนสินค้าออกจากหน้าโรงงาน และการเก็บสตอกก่อนนำส่งขาย ด้วยการใช้ระบบสายการผลิตช่วยสอบทาน เมื่อติดตั้งใหม่คาดว่าจะมีรายได้ภาษีเบียร์สูงขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี จากปีก่อนจัดเก็บได้ 79,090 ล้านบาท
“ยอมรับว่าอุตสาหกรรมเบียร์และการดื่มเบียร์เติบโตขึ้นมาตลอด แม้จะมีการลดดีกรี จากโครงสร้างภาษีใหม่ จาก 36,000 ล้านบาท ในปี 2546 ภาษีสรรพสามิตเบียร์ เพิ่มเป็น 87,000 ล้านบาทในปี 2560 ภาษีสุรา จาก 15,000 ล้านบาทในปี 2538 ปัจจุบันเพิ่มเป็น 31,000 ล้านบาท หลังจากนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยเก็บภาษีผ่านระบบ QR Code มาใช้กับภาษีบุหรี่และสุรา จึงปรับปรุงใช้กับเบียร์เพิ่มเติม” นายพชร กล่าว
สำหรับการเก็บภาษีด้วยระบบ Direct Coding ในสินค้าเบียร์ เปิดให้บริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูลรับเข้ามาบริหารจัดการพิมพ์รหัสการเสียภาษีบนกระป๋องและขวดเบียร์ โดยภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนต้นทุนค่าพิมพ์สแตมป์อิเล็กทรอนิกส์ 25 สตางค์ต่อกระป๋อง ตลอดระยะเวลาตามสัญญา 7 ปี คาดว่ามีรายได้ 8,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรมฯ พร้อมพิจารณาขยายเวลายกเว้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม จากเดิมครบกำหนด 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการและให้มีการจ้างงานตามปกติในช่วงปัญหาโควิด-19
นายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเบียร์ 3 แห่ง กำลังการผลิต 1,540 ล้านลิตรต่อปี โรงงานทุกแห่งพร้อมรองรับ แนวทางการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต เพราะได้ศึกษาร่วมกันมาโดยตลอด เพื่อให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพโดย กรมสรรพสามิตมอบหมายให้เอกชนเข้าเป็นผู้ดำเนินการ
นายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักภาษีแลรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมดำเนินการตามกรมสรรพสามิต เพื่อให้โรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 3 แห่ง ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงการคลัง รองรับการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเปลี่ยนไปมาในยยุคปัจจุบัน สำหรับปัญหาผลกระทบในช่วงโควิดที่ผ่านมา เบียร์สิงห์ได้ดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ ไมมีการปลดคนงาน และเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย การท่องเที่ยวดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามไปด้วย.- สำนักข่าวไทย