กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – Moody’s คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับ Baa1 แต่ปรับลดมุมมองความน่าเชื่อถือ Negative Outlook แนะเศรษฐกิจไทยอ่อนไหวต่อ “ทรัมป์ 2.0” สบน.มั่นใจข้อเจราช่วยไทยผ่านพ้นวิกฤติได้
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า Moody’s ประกาศ ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ในระดับ Baa1 และปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ที่ Negative Outlook เป็นการปรับมุมมองลดลงจากสาเหตุหลักมาจากปัจจัยความเสี่ยงภายนอก จากความไม่แน่นอนของนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงส่งผลกระทบต่อการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลก และภูมิภาค รวมถึงส่งผลกระทบทางอ้อมมายังเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารวมถึงประเทศไทย
นับเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลไทย แม้จะยังไม่สามารถประเมินระยะเวลาและความรุนแรงได้อย่างชัดเจน แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ทำให้จีดีพีเติบโตในปี 68 จากเดิม 3.3% ลดเหลือ 2.8% หลายประเทศจึงถูกปรับมุมมองเป็น Negative Outlook รวมทั้งไทย Moody’s ยังมีความเห็นเกี่ยวกับฐานะการเงินต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจไทย ดังนี้
1) ภาคการเงินต่างประเทศ ไทยยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง (ณ มี.ค.68) กว่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) เสถียรภาพทางการเงินมีความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ ควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง สามารถบริหารหนี้ให้อยู่ในระดับที่รับได้ แม้ว่าภาระหนี้สาธารณะ เพิ่มอย่างมาก ในช่วงโควิด-19 ประเทศไทยยังมีตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้มีความพร้อม รองรับการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมีหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท อายุเฉลี่ยของหนี้ระยะยาว ถือเป็นโครงสร้างหนี้เอื้อต่อการบริหารจัดการภาระหนี้
3) ภาวะเศรษฐกิจไทย มีการเติบโตของเศรษฐกิจช้ากว่าประเทศในกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (Peers) นับตั้งแต่ปัญหา Covid-19 เศรษฐกิจไทยยังอ่อนไหวต่อการรองรับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ (Economic Shock) อาทิ การจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อาจส่งทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนในระดับสูง
4) ภาคการคลัง แม้รัฐบาลไทย ดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การประกาศเพิ่มภาษีศุลกากร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ กระทบต่อการค้าโลก บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจโดยตรงของไทย อาจทำให้การทำงบสมดุลล่าช้า กว่าที่คาดการณ์ไว้ 5) ความท้าทายเชิงโครงสร้าง (Structural Challenges): ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเติบโตของผลิตภาพการผลิต อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอย้ำว่า แนวทางการรองรับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของ “ทรัมป์” ไทยกำลังเตรียมการเจรจาเพื่อรองรับต่อมาตรการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว อาทิ การลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จึงต้องกำหนดมาตรฐานของสินค้าและควบคุมการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ตลอดจนเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ ของทรัมป์ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง คาดว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้ภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้แผนการเข้าสู่สมดุลทางการคลัง มีความล่าช้า แต่เมื่อไทยมีธรรมาภิบาลที่มีความแข็งแกร่ง มีความสามารถดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างรอบคอบ มีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีวินัย สะท้อนจากหนี้สาธารณะเกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านภาคการลงทุน: ประเทศไทยยังรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ 10 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลยังมีนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น การลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคการท่องเที่ยวยังมีต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 1 ของปี 68 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลกระทบระยะสั้นต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 68
สบน.ในนามกระทรวงการคลังขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีแผนการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาครัฐ และแผนเข้าสู่สมดุลทางการคลัง ระยะปานกลาง กำลังถูกเร่งดำเนินการ ทำให้การปรับมุมมอง Outlook ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคหรือเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ สบน.พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการที่เหมาะสมรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ.-515- สำนักข่าวไทย