รร.เซนทรา ศูนย์ราชการ 21 มิ.ย.-เวทีปรึกษาสาธารณะแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เวทีสุดท้าย ที่กรุงเทพวันนี้ ยังไม่สามารถเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ เนื่องจากมีกลุ่มคนรักหลักประกัน สุขภาพและภาคีเครือข่ายออกมาแสดงความเห็นแย้งถึงความไม่ชอบธรรมของการจัดเวที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30น. ซึ่งผ่านเวลาเปิดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่..พ.ศ…. มา1 ชั่วโมงแล้ว จากเดิมกำหนดไว้เวลา 09.30 น. เวทีที่ปรึกษาสาธารณะยังไม่ได้เริ่มต้นขึ้นเนื่องจาก มีกลุ่มตัวแทนคนรักหลักประกันสุขภาพได้ขึ้นมาพูดถึงความไม่ชอบธรรมในการจัดเวทีที่ปรึกษาฯ ครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่กำหนดการที่ไม่แน่นอน และผู้เข้าร่วมประชุมที่ได้ส่งคำเชิญ ไปนับ 100 แต่มีผู้เข้าประชุมเพียง 70 ถึง 80 คน การขึ้นพูดแย้งหน้าเวทีได้บานปลายออกไปเป็นการพูดถึงที่มาของการยกร่างกฎหมายที่มีภาคประชาชนเข้าร่วมน้อย ขณะที่ได้เรียกร้องให้รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการยกร่างฯ ที่กำลังอยู่ในวงเสวนาเรื่องสิทธิประโยชน์บัตรทองที่กระทรวงสาธารณสุขจัดขึ้นในชั้นที่2ของตึกเดียวกัน ให้ขึ้นมารับหนังสือ ร้องเรียน
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 9.30 น นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ร่างฯ ได้กล่าวเปิดเวที ฯและชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ ว่าการหารือเป็นกลุ่มครั้งนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนของตัวแทนองค์กรที่เชิญมาเข้าร่วมหารือ โดยในแต่ละกลุ่มจะมีประเด็นใดที่อยากจะเน้นเป็นพิเศษให้เติมความคิดเห็นได้ และการหารือวันนี้จะไม่มีการโหวตไม่มีการสรุปจะเป็นเพียงเติมความคิดเห็นเท่านั้น
ขณะที่ยังไม่ทันเริ่มแบ่งกลุ่มนั่งโต๊ะก็มีตัวแทนภาค ประชาชนขึ้นมาแสดงความเห็นแย้งถึงความไม่ถูกต้องของการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะครั้งนี้
สำหรับเวทีครั้งนี้ จัดขึ้นภายหลังการเปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นระดับภูมิภาค 4 ครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นการประชุมกลุ่มเฉพาะที่มีตัวแทนจากผู้ให้บริการ ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมกันหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปใน 14 ประเด็น และสรุปเนื้อหาการรับฟังความเห็นจากทุกช่องทาง
เบื้องต้นจากเวทีประชาพิจารณ์ และการเปิดรับฟังความคิดเห็นช่องทางต่างๆ มี 4 ประเด็น ที่ให้เดินหน้าต่อไป มี 6 ประเด็น อาจต้องหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
โดยจะแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยทั้งหมด 10 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน เพื่อจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จนกว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาระบบสุขภาพ
สำหรับเวทีปรึกษาสาธารณะครั้งนี้ เป็นเวทีสุดท้ายของการเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนรวบรวมส่งให้คณะกรรมการยกร่างกฎหมาย ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ .-สำนักข่าวไทย