ก.คมนาคม 20 มิ.ย. – รมว.คมนาคมยืนยันรถไฟไทย-จีน ไทยได้ประโยชน์ทั้ง 2 ข้างทางแนวรถไฟ—เทคโนโลยีจากจีน ยอมรับไม่มีประเทศไหนได้กำไรจากการสร้างรถไฟความเร็วสูง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทาง กทม.-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 179,412 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะสามารถเสนอ ครม.ได้ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ และภายในเดือน สิงหาคม – กันยายนจะเริ่มก่อสร้าง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าโครงการดังกล่าวฝ่ายรัฐบาลไทย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ลงทุนเองทั้งโครงการ ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะไม่เหมือนประเทศอื่น หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะการใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟ , พื้นที่ 2 ข้างทางรถไฟ และพื้นที่ระหว่างทางรถไฟ จะเป็นอำนาจสิทธิขาดของประเทศโดย รฟท. ที่จะเข้าไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่เองโดยรถไฟ , เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ หรือปล่อยให้ธรรมชาติเป็นคนบริหารจัดการให้มีความเจริญเกิดขึ้นเอง
“ต้องเข้าใจว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูง ไม่มีประเทศไหนที่ได้กำไรจากส่วนนี้ ขนาดญี่ปุ่นยังใช้เวลากว่า 50 ปี ถึงจะมีกำไรจากการบริการ ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศต้นตำรับรถไฟความเร็วสูง รัฐบาลยังเป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น การลงทุนรถไฟความเร็วสูงจะคำนวณแค่การเงินไม่ได้ ต้องมองถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า เพราะเมื่อมีการก่อสร้างรถไฟ การขยายตัว การเติบโตของเมืองจะยิ่งขยายความเจริญขึ้นไปด้วย” นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ นายอาคม ยืนยันว่าการจ้างงานจะแบ่งเป็นงานโยธาและงานระบบราง ระบบรถ อาณัติสัญญาณ โดยงานโยธาจะใช้ผู้รับเหมาก่อสร้างไทย ส่วนระบบรถราง อาณัติสัญญาณ เป็นของจีน ส่วนวัสดุก่อสร้างจะเป็นวัสดุที่ผลิตในประเทศ 100% ส่วนข้อกังวลการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันนั้น ได้ข้อสรุปว่าจะมีการกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีลงในสัญญาข้อ 2.1 เรื่องสัญญาการออกแบบ, สัญญาข้อ 2.2 สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงาน และสัญญาข้อ 2.3 สัญญาระบบรางและอาณัติสัญญาณ นอกจากนี้ มีการเสนอให้ทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกของไทยกับจีน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย