รัฐสภา 15 มิ.ย.-ที่ประชุมสนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประกอบรธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง วาระ 3เพิ่มเลขาธิการพรรคเป็นกก.บริหารพรรค กำหนดให้พรรคจ่ายเงินทุนประเดิมจัดตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท วิธีคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ยึดหลักการมีส่วนร่วมของสมาชิก
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (15 มิ.ย.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่งเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะกรรมาธิการฯ (กมธ.)พิจารณาเสร็จแล้ว มี 142 มาตรา
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งหวังให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงเพิ่มเนื้อหาเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ และเพิ่มมาตรการส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีโครงสร้างที่เข้มแข็งถาวร สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยการนำสาขาพรรคการเมืองมาเป็นเงือนไขในการจัดกองทุนพัฒนาการเมือง
“สำหรับประเด็นเรื่องทุนประเดิมพรรคเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อมีส่วนร่วมในการตั้งพรรคการเมือง และป้องกันนายทุนเข้ามาครอบงำพรรค จึงกำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองที่จะส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งครั้งนี้ 1.5 ล้านบาท มีผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คน วงเงินตั้งแต่ 1,000-50,000 บาท เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมาก เพราะการกำหนดเพดานเงินขั้นสูง ส่วนเงินค่าสมาชิกพรรคการเมือง ตามร่างกำหนดให้จัดเก็บคนละ 100 บาทต่อปี แต่ในปีแรกก่อนเลือกตั้งนี้ อนุโลมลดให้เหลือ 50 บาท ซึ่งทางกมธ.เห็นว่าไม่เป็นอุปสรรคขวางกั้นการเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมือง จึงเห็นด้วย แต่ต้องมีมาตรการอำนวยความสะดวกการจัดเก็บค่าบำรุง ซึ่งกมธ.เชิญผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารรัฐมาหารือ จึงเพิ่มวรรคท้ายให้อำนวยความสะดวกในการจัดเก็บค่าสมาชิกผ่านธนาคารของรัฐได้” พล.อ.
สมเจตน์ กล่าว
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า มาตรา 9 เรื่องทุนประเดิมพรรคการเมือง ได้มีการถกเถียงกันค่อนข้างมาก โดยกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอให้ปรับแก้กลับไปใช้ทุนประเดิมที่ 1 ล้านบาท ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนตามค่าใช้จ่ายของผู้สมัครส.ส.ตามที่คณะกรรมาธิการฯแก้ และให้ลงเงินได้คนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยในวาระที่ 2 ด้วยคะแนน 109 ต่อ 95 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสนช.มีมติเห็นชอบการปรับแก้ของกรรมาธิการในมาตราอื่น ๆ ทุกมาตรา อาทิ การห้ามกรรมการบริหารพรรคยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้าควบคุม ครอบงำ ชี้นำการดำเนินกิจการของพรรค หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งปรับและจำคุก รวมถึงเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขณะเดียวกันยังเห็นชอบปรับแก้วิธีการคัดเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต ที่ยึดหลักว่าสมาชิกพรรคจะมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้สมัคร โดยจะกำหนดให้ประกาศรับสมัครผู้มีคุณสมบัติ แล้วจะส่งรายชื่อไปยังสาขาพรรคหรือตัวแทนจังหวัด เพื่อให้สมาชิกคัดเลือกจนได้ชื่อ 2 ลำดับแรกในแต่ละเขต ก่อนส่งให้คณะกรรมการสรรหา
จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งหากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ได้เลือกชื่อลำดับแรกต้องชี้แจงเหตุผล แต่หากคณะกรรมการบริหารพรรคไม่เลือกทั้ง 2 ลำดับจะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะประกาศรับสมัครสมาชิกที่มีคุณสมบัติ จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะต้องจัดทำรายชื่อ 150 คน โดยชื่อแรกจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น แล้วพรรคจะต้องส่งชื่อทั้ง 150 คน ให้สาขาพรรคและตัวแทนจังหวัดคัดเลือกด้วยวิธีการลงคะแนน โดยสมาชิก 1 คน สามารถลงคะแนนให้ได้ 15 รายชื่อ เมื่อสมาชิกได้ลงคะแนนแล้ว จะส่งกลับมาให้คณะกรรมการสรรหาจัดลำดับชื่อตามคะแนนที่ได้รับจากสมาชิก
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเท่ากัน ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารพรรคในการพิจารณา ซึ่งวิธีดังกล่าวจะแก้ปัญหาเรื่องนายทุนส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ได้ นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบการปรับสัดส่วนของกรรมการบริหารพรรค โดยเพิ่มให้มีเลขาธิการพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมสนช.ใช้เวลาพิจารณากว่า 6 ชั่วโมง จึงมีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองวาระ 3 ด้วยคะแนน 180 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง
สำหรับขั้นตอนต่อไป ประธานสนช.จะส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้กรธ. กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ ซึ่งกกต.และกรธ.จะต้องมีความเห็นกลับมายังสนช. ภายใน 10 วัน หากไม่มีองค์กรใดโต้แย้ง สนช.จะส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่หากองค์กรใดโต้แย้ง จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมชุดหนึ่งจำนวน 11 คน โดยมีสัดส่วนจากประธาน กกต. 1 คน สนช. และกรธ. ฝ่ายละ 5 คนเพื่อพิจารณาใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันก่อนส่งให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง หากสนช.มีมติเสียงไม่เห็นชอบเกิน 2 ใน 3 จะถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นอันตกไป และจะต้องเริ่มกระบวนการยกร่างใหม่.-สำนักข่าวไทย