อุดรธานี 11 มิ.ย.- นักวิชาการห่วงปัญหาสิ่งแวดล้อม “จอกหูหนูยักษ์” ลามแหล่งน้ำอีสานตอนบน มรภ.อุดรธานี-ศูนย์วิจัยฯ เกษตรเร่งศึกษาหาวิธีกำจัดให้เด็ดขาด รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์ด้วยวิธีธรรมชาติ
ผศ.ดร.ธีร์ธวัช สิงหศิริ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เปิดเผยว่า หลังจากมีข่าวการระบาดของ “จอกหูหนูยักษ์” ในแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งในจังหวัด ทางคณาจารย์จึงมีความเป็นห่วง เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าเป็นพืชมาจากต่างประเทศ และหลายประเทศก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกันระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลทางวิชาการในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานมีน้อยมาก คณะวิทยาศาตร์ มรภ.อุดรธานี ได้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ เบื้องต้นได้รวบรวมข้อมูลทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเก็บตัวอย่าง และข้อมูลที่อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างกุดลิงง้อ อ.เมือง ที่พบการระบาดอย่างรุนแรง ขณะที่อ่างเก็บน้ำบ้านจั่นไม่พบปัญหา มีเพียงผักกระเฉดบก หรือผักกระฉูดอยู่จำนวนมาก
ผศ.ดร.ธีร์ธวัช กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างจอกหูหนูยักษ์ พืชน้ำ ข้อมูลทางกายภาพ-เคมี และอื่นๆ นำกลับมาศึกษาทดลอง เบื้องต้นมีเป้าหมายกับจอกหูหนูยักษ์ คือ การกำจัดให้หมดไป , การควบคุมในวงจำกัด และการนำมาใช้ประโยชน์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ หรือใช้พลังงานให้น้อยที่สุด ขณะนี้ยังไม่กำหนดกรอบเวลา แต่ให้ความสำคัญในลำดับต้น ๆ
ด้านนายสุทธาชีพ ศุภเกษร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรตรวจพบการระบาดของจอกหูหนูยักษ์ ในแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่งใน จ.อุดรธานี และมีการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้ศูนย์ฯ อุดรธานีทดลองกำจัดจอกหูหนูยักษ์ด้วยสารชีวภาพ หรือสารที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม พบว่ามีปฏิกิริยาต่อสารชนิดหนึ่ง แต่ยังเป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้นยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบอีก นอกจากนี้รับแจ้งการระบาดขยายวงกว้างในจังหวัดข้างเคียงของอุดรธานีด้วย.-สำนักข่าวไทย