สมาคมนักข่าวฯ 9 มิ.ย.-ในเวทีเสวนาหัวข้อข่าว‘เปรี้ยว’นักวิชาการสะท้อนสังคมไทยป่วย 5โรค นิยมความดัง ติดกระแส นิยมความรุนแรง ขณะที่สื่อไทยกลัวตกข่าว ห่วงเรตติ้ง แนะสื่อหลักเป็นยารักษาโรค
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “ข่าวเปรี้ยว ข่าวเปรี้ยง ! สะท้อนความป่วยไข้ของสังคมไทย?” โดยนายวรัชญ์ คุรจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ข่าวเปรี้ยวหั่นศพ สะท้อนสังคมไทยกำลังป่วย 5 โรค คือ โรคนิยมความดัง , ติดกระแส , ฉาบฉวย , คิดไม่รอบคอบ และนิยมความรุนแรง ส่วนสื่อมวลชนไทยก็กำลังป่วย 5โรคเช่นกันคือโรคกลัวตกข่าว,ห่วงเรตติ้ง ,ติดดราม่า,ควบคุมตัวเองไม่ได้ และไร้กรอบจริยธรรม ขณะที่สถิติการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตมีผู้ใช้ร้อยละ60 แสดงว่าอีกร้อยละ40ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น สื่อหลักเปรียบเสมือนยารักษาโรค สามารถนำเสนอเนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ ช่วยรักษาโรคที่สังคมกำลังป่วย
ด้านน.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ในฐานะสื่อมวลชนมี 2 หน้าที่หลักคือนำเสนอเนื้อหาสิ่งที่ประชาชนควรจะรู้ กับเนื้อหาที่ประชาชนอยากจะรู้ ซึ่งสื่อออนไลน์ปัจจุบันเลือกนำเสนอในสิ่งที่สังคมอยากรู้ ส่วนสิ่งที่ควรรู้ มีการนำเสนอน้อยลงและผู้เสพสื่อจะเลือกรับชมในสิ่งที่อยากรู้ กลายเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ขณะที่การนำเสนอข่าวผ่านเฟสบุ๊ก ระบบจะคัดกรองผ่านพฤติกรรมของผู้รับสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย ยากต่อการควบคุม
ขณะที่นายวริษฐ์ ลิ้มทองกุล กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อเมืองไทยร้อยละ 90 เป็นสื่อเอกชนที่ต้องสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ โดยสื่อต้องมีเรตติ้ง เพิ่มยอดขายโฆษณา เพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้การนำเสนอข่าวขาดความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสื่อ ควรมีมาตรการที่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยอมรับว่ากสทช.ยังไม่มีบทบาทในการกำกับเนื้อหาสื่อออนไลน์ ปัจจุบันสื่อหลักกำลังลงไปแข่งขันกับสื่อประชาชน ที่ไม่มีกรอบควบคุมจริยธรรม ตรงกันข้ามในวิชาชีพสื่อมีกรอบจริยธรรมควบคุม สามารถเลือกนำเสนอให้อยู่ในกรอบจริยธรรม ดังนั้นความแตกต่าง คือจุดรอดของสื่อหลัก .-สำนักข่าวไทย