ศาลปกครอง 8 มิ.ย. กลุ่มรักษ์เชียงของ ยื่นฟ้องกรมทรัพยากรน้ำและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ให้เพิกถอนกระบวนการ PNPCA กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง
ชาวบ้านกลุ่มรักษ์เชียงของ นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว นายจีรศักดิ์ อินทะยศ และนายพิศณุกรณ์ ดีแก้ว เดินทางมาศาลปกครอง ร่วมกับทนายความ เป็นโจทก์ร่วมฟ้องกรมทรัพยากรน้ำและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ให้เพิกถอนข้อสรุปจากกระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ PNPCA กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ในแขวงอุดมไซ สปป.ลาว หลังไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหากมีการสร้างเขื่อน โดยขอศาลได้พิจารณาพิพากษาใน 6 ประเด็น ได้เเก่
1. ขอให้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และขอให้เพิกถอนความเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ทั้งสิ้น
2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม/ และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ก่อนที่รัฐบาลสปป.ลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
3.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย
4.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง
5.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบงต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อสปป.ลาว
เเละ6.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเป็นการฟ้องร้องคดีเพื่อป้องกันการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทยกับสปป.ลาว //อนึ่ง การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้จะเป็นคดีที่2 ที่เป็นการฟ้องหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการที่อยู่นอกประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย
สำหรับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 ซึ่งขณะนี้โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 และกำหนดครบวาระ 6 เดือน ในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากเขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราว 92 กิโลเมตร.-สำนักข่าวไทย