กรุงเทพฯ 5 มิ.ย. – ธปท. ผ่อนคลายเงินลงทุนนอกตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมเปิดทางให้บริษัทซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รับโอนเงินชำระค่าสินค้าแข่งกับแบงก์
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา ธปท. ได้ทำงานร่วมกับคณะทำงานตัวแทนภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงและปฏิรูปกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินตราประมาณ 80 ฉบับ ให้มีความชัดเจน โปร่งใส ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ลดความซ้ำซ้อน เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ( ease of doing business) โดยคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนภาคเอกชนได้ 1,000 ล้านบาท ต่อปี โดยแผนการดำเนินการบางเรื่องมีผลบังคับใช้ในเดือนนี้ และจะทยอยเร่งดำเนินการให้เสร็จทั้งหมดภายในปี 2560
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน ธปท. กล่าวว่า การผ่อนคลายกฎเกณฑ์เน้น 4 เรื่องหลัก คือ 1. เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทย ให้ประชาชนที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุนในไทย คาดว่าเริ่มมีผลสิ้นปี 2560 2.เพิ่มทางเลือกให้รายย่อยสามารถโอนเงินนอกประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าในต่างประเทศผ่านบริษัทซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (Money Changer) ได้ จากเดิมอนุญาติให้ชำระเลี้ยงครอบครัว ท่องเที่ยว การศึกษา และค่าบริการรายย่อย เท่านั้น โดยธปท.กำลังพิจารณาเพิ่มวงเงินโอนออกนอกประเทศให้แก่ลูกค้าได้มากกว่า 200,000 บาทต่อรายต่อวัน จะได้ข้อสรุปสิ้นปี 2560 และอนุญาตให้บริษัททซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศและต่างประเทศได้ รวมทั้งสามารถซื้อขายเงินตราต่างประเทศในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-มันนี่ นอกจากนี้ให้บริษัทหลักทรัพย์ สามารถประกอบธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็น โอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาแข่งขันให้บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
3.ลดขั้นตอนและเอกสาร เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนการใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น ลดเอกสารหลักฐานประกอบการโอนเงินออกนอกประเทศ โดยไม่ต้องแสดงงบการเงิน ยกเลิกการกรอกแบบฟอร์มการซื้อเงินตราต่างประเทศตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น 4.ยกเลิก และ ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้คล่องตัวมากขึ้น ให้ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี ให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาติต่อธปท. และเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อสกุลบาทแก่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีถิ่นฐานในไทย (non-resident) เพื่อการลงทุนในประเทศไทย และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง .-สำนักข่าวไทย