กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – “กัลฟ์เอ็นเนอร์จี” ยื่น ก.ล.ต.เพื่อกระจายหุ้นแล้ว ลงทุนพลังงานครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ หลังกระทรวงพลังงานยื้อไอพีพีไม่สำเร็จ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัทกรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือ Filing version แรก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เพื่อเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) ไม่เกิน 533.30 ล้านหุ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ อาจกันหุ้นบางส่วนจากจำนวนดังกล่าวมาจัดสรร เพื่อเสนอขายต่อผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investor) และบริษัทฯ มีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์, บล.กสิกรไทย, บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 คือ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ถือหุ้น 619,999,994 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 100, บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 2 หุ้น , Gulf Investment and Trading Pte. Ltd. ถือ 2 หุ้น และ Gulf Capital Holdings Limited ถือ 2 หุ้น ภายหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม นายสารัชถ์ จะลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือร้อยละ 51.25, บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 6.25 ขณะที่ Gulf Investment and Trading Pte. Ltd. และ Gulf Capital Holdings Limited ถือหุ้นฝ่ายละร้อยละ 21.25 หลังเสนอขายหุ้น IPO แล้ว นายสารัชถ์ จะลดการถือหุ้นลงเหลือ ร้อยละ 38.44 ,บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 4.69 ขณะที่ Gulf Investment and Trading Pte. Ltd. และ Gulf Capital Holdings Limited ถือหุ้นฝ่ายละร้อยละ 15.94 วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินลงทุนและเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อย และบริษัทร่วมของบริษัทฯ และบริษัทอื่น รวมถึงการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของบริษัทฯในอนาคต และใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ และเพื่อวัตถุประสค์อื่น ๆ ของกลุ่มบริษัทฯ
บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเย็น และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่สุดของประเทศไทย ทั้งนี้ เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาทั้งหมดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567 รวมกับโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed Capacity) รวมทั้งสิ้น 11,396.2 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทฯ (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560) ทั้งสิ้น 5,460.2 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินการผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมดังต่อไปนี้ 1.โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ และโครงการ SPP 7 โครงการภายใต้ GJP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่บริษัทฯ ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 40.00 2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก (SPP) ก๊าซธรรมชาติ 12 โครงการภายใต้ GMP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 70.00 3. โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการภายใต้ IPD ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 51.00 4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) 4 โครงการภายใต้ Gulf Solar ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 74.99 5. โครงการ SPP ชีวมวล 1 โครงการของ CGC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 100.00
ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 กลุ่มบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วของกลุ่มบริษัทฯ 10 โครงการ ประกอบด้วย (ก) โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ และโครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ 7 โครงการภายใต้ GJP และ (ข) โครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ 1 โครงการภายใต้ GMP (ซึ่งได้แก่ GVTP) โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 4,373.6 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทฯ 1,754.3 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทฯ สำหรับโครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 1,362.2 เมกะวัตต์ และโครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ 392.0 เมกะวัตต์
บริษัทฯ ยังถือหุ้นร้อยละ 100.00 ใน Gulf HK โดย Gulf HK ถือหุ้นร้อยละ 9.09 ในบมจ.เอสพีซีจี (SPCG) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และถือหุ้นร้อยละ 0.46 ใน EDL-GEN ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในประเทศลาว นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ในขั้นตอนพัฒนาธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ผ่าน Gulf WHA MT ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 49.00 โดยมีบมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (Hemaraj) ถือหุ้นร้อยละ 51.00 ทั้งนี้ Gulf WHA MT ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ในบริษัทย่อยอีก 2 บริษัทคือ WHA NGD2 และ WHA NGD4
โครงการในอนาคต ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 กลุ่มบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งเป็นโครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 11 โครงการ ภายใต้ GMP และโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนาจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ ภายใต้ IPD ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวทั้งหมดได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบมจ.ปตท. (PTT) แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งให้กับกลุ่มบริษัทอีก 6,997 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโครงการ IPP 2 โครงการ ภายใต้ IPD จำนวน 5,570 เมกะวัตต์ และโครงการ SPP จำนวน 11 โครงการ ภายใต้ GMP จำนวน 1,427 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 3,680.5 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ SPP ชีวมวลของ CGC ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งอีก 25 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของริษัทจำนวน 25 เมกะวัตต์ บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในอนาคต รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวการกระจายหุ้นของกัลฟ์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) วันที่ 14 มีนาคม 2560 อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ของเครือบริษัทกัลฟ์ ที่ชนะการประมูลขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 110,000 ล้านบาท โดยจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564-2569 โดยโครงการนี้ถูกตรวจสอบโดย คสช.ระยะแรก และแม้กระทรวงพลังงานพยายามเจรจาเลื่อนการลงทุน เพราะสำรองไฟฟ้าสูงก็ไม่เป็นผล.- สำนักข่าวไทย