นนทบุรี 21 พ.ค. – กระทรวงพาณิชย์เผยลู่ทางสินค้าผู้รักสุขภาพทั้งอาหาร – ไม่ใช่อาหาร โอกาสสตาร์ทอัพไทยโกอินเตอร์ พร้อมแนะผลิตสินค้าตอบโจทย์เพื่อสุขภาพ
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ตลาดและโอกาสของกลุ่มผู้รักสุขภาพเพื่อเป็นแนวทางการเริ่มต้นธุรกิจ (สตาร์ทอัพ) ของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่า การเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใช่อาหารของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาจะมีปัจจัยหลัก คือ ต้องเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่สินค้าอาหารจะเพิ่มองค์ประกอบด้านนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากธรรมชาติ ผ่านการวิจัยคุณภาพอาหาร และสามารถสะท้อนกระแสการรักษาสมดุลทางธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สำหรับนวัตกรรมอาหารที่มีโอกาสทางการค้า ได้แก่ โปรตีนจากแมลง (มีแคลเซียมและไฟเบอร์) โปรตีนจากพืช (เช่น ถั่วและเมล็ดพืช) โปรตีนสกัด/สังเคราะห์ (เช่น ไข่ขาวสังเคราะห์จากกรดอะมิโน) เป็นต้น ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จากโปรตีนทางเลือกมีหลายรูปแบบ รวมถึงการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน หรือง่ายต่อการนำมาประกอบอาหาร เช่น โปรตีนแผ่นปรุงรส โปรตีนพร้อมประกอบอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มโปรตีน และอาหารขบเคี้ยว/อาหารว่าง ที่สำคัญต้องผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ปลอดภัยไร้สารเคมี
ส่วนสินค้าที่ไม่ใช่อาหารจะเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินชีวิต เช่น ที่นอนยางพารา/ใยมะพร้าว หมอนเพื่อสุขภาพ ชุดเครื่องนอนและเสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายหรือเส้นใยธรรมชาติ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากไม้ธรรมชาติ หรือให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติ มีดีไซน์ที่ดูสะอาด โปร่ง ทำความสะอาดง่าย สินค้าของใช้ในห้องน้ำที่ผลิตจากธรรมชาติผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้สารเคมีน้อยและมีการรับรองจากแพทย์ผิวหนังจำพวกสบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์เครื่องบำรุงผิว/ผม เครื่องสำอาง อีกทั้งยังมีสินค้าและบริการที่เสริมสร้างความมีชีวิตชีวาและความสบาย/ผ่อนคลาย เช่น การกดจุดและฝังเข็ม ผลิตภัณฑ์ช่วยผ่อนคลายและกระตุ้นการหมุนเวียนโลหิต เช่น แผ่นรองนั่ง หรือ แผ่นรองเท้า อุปกรณ์สำหรับนวด เป็นต้น
นางมาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้รักสุขภาพไม่ได้บริโภคและใช้สินค้าตามกระแส แต่จะเลือกสินค้าที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตน ดังนั้น การออกแบบและการผลิตสินค้าต้องตอบโจทย์เพื่อสุขภาพ ทำจากธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การใส่ใจต่อสังคม การประหยัดวัตถุดิบและพลังงาน การใช้งานได้ระยะยาว ตลอดจนการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำตลาด เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ นอกจากนี้ การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ควรสื่อให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) การเสียสละ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ.-สำนักข่าวไทย