รัฐสภา 18 พ.ค.-กรธ.เตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญานักการเมือง – พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปให้ สนช.พิจารณาในสัปดาห์หน้า เผย กรธ.พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครบ 10 ฉบับแล้ว
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า เบื้องต้น กรธ.ได้พิจารณาครบถ้วนทั้ง 10 ฉบับแล้ว เหลือเพียงการทบทวนรายละเอียดให้ครบถ้วน โดยสัปดาห์หน้า กรธ.จะส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปให้ สนช.พิจารณาอีก 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน
นายอุดม กล่าวถึงสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า กรธ.ได้กำหนดระบบการไต่สวนให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อค้นหาความจริงของคดี ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ หรือจำเลย ซึ่งพยานหลักฐาน ก็สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีได้ทุกประเภท เพื่อให้ศาลสามารถไต่สวนหาความจริงได้อย่างถี่ถ้วน สำหรับอำนาจของศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น จะเน้นการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีความร่ำรวยผิดปกติ หรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ใช้อำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือมีพฤติการณ์ทุจริต โดยสามารถสั่งยึดทรัพย์จากการกระทำความผิดให้เป็นของแผ่นดินได้ นอกจากนั้น ยังสามารถไต่สวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระอื่น ๆ ซึ่งรวมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติได้อีกด้วย และยังสามารถไต่สวนผู้ที่กระทำความผิดร่วมกับนักการเมืองได้
นายอุดม ยังกล่าวถึงองค์คณะผู้พิพากษา ว่า จะมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 9 คน และในกรณีที่เหลือน้อยกว่า 7 คน ประธานศาลฎีกาจะต้องดำเนินการคัดเลือกให้ครบ 9 คน โดยจะไม่มีการสำรองรายชื่อไว้ และการนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น หาก ป.ป.ช.ไต่สวนและพบมูลความผิด ก็สามารถส่งเรื่องต่อให้อัยการ ส่งฟ้องต่อศาลได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปศาล และการพิจารณาคดี ก็สามารถไต่สวนได้ โดยจำเลยไม่จำเป็นจะต้องขึ้นศาล หรือจำเลยไม่ปรากฏตัว ซึ่งจำเลยสามารถแต่งตั้งทนายความต่อสู่คดีแทนก็ได้ เพื่อป้องกันจำเลยหลบหนีคดี และเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยปรากฏตัวภายหลัง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ขณะเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเปิดช่องให้จำเลยสามารถอุทธรณ์คดีได้ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะต้องแต่งตั้งผู้พิพากษาในระดับหัวหน้าคณะ จำนวน 9 คน ขึ้นมาพิจารณาคดี.-สำนักข่าวไทย