ชลบุรี 18 พ.ค. – มะม่วงหิมพานต์ นิยมนำมาปรุงอาหาร ทั้งของหวานและของคาวมากขึ้น ผู้แปรรูปมะม่วงหิมพานต์ที่ จ.ชลบุรี จึงต้องหาทุนขยายกิจการ ผ่านการค้ำประกันของ บสย.
มะม่วงหิมพานต์ เริ่มถูกนำมาพัฒนาปรับปรุงบนโต๊ะอาหาร ทั้งของหวาน ของคาว อาหารว่าง จนทำให้ความต้องการของตลาด ภัตตาคาร เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลายสิบปีก่อนในพื้นที่ อ.บ่อทอง ปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์จำนวนมาก แต่ถูกตัดเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาสูงแทน คุณสมจิตจึงต้องออกไปหารับซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์ต่างถิ่นในแถบ จ.ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ตันละ 60,000 บาท มะม่วงหิมพานต์ออกผลเป็นฤดูปีละครั้ง จึงต้องสตอกเก็บไว้ ทยอยแปรรูปออกสู่ตลาดทั้งปี 400-500 ตัน/ปี จึงต้องใช้ทุนจำนวนมากมารองรับซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์
แต่กว่าจะออกมาเป็นเม็ดมะม่วงหิมพานต์พร้อมรับประทานได้อย่างที่เห็นอยู่นี้ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ตั้งแต่นำเม็ดมะม่วงตากแดด 3 วันให้แห้ง แล้วนำมาต้มนาน 4 ชั่วโมง จากนั้นต้องแกะเม็ดด้วยเครื่องทีละลูก เพราะเปลือกแข็งเหมือนกะลามะพร้าว แรงงานแกะเปลือกทั้งวันทำได้ประมาณ 1.5 ตัน แล้วจึงนำมาอบแห้งอีกหลายชั่วโมง ก่อนจะนำไปผ่านเครื่องกระเทาะเปลือกชั้นใน กว่าจะออกสู่ตลาด จึงทำให้มะม่วงหิมพานต์มีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับถั่วลิสง หรือผลไม้แปรรูปทั่วไป
เมื่อตกแต่งแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตามขนาดเพื่อคัดเกรด เช่น ขนาดจัมโบ้ ขายราคา 410 บาท/กิโลกรัม ขนาด A ขาย 400 บาท ขนาด B ขาย 390 บาท ก่อนส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ตลาดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ตลาดไท เมื่อกิจการเริ่มเติบโต จึงต้องหาทุนมาล้างหนี้นอกระบบ ภาระดอกเบี้ย 90,000 บาท/เดือน ได้ตัดสินใจยื่นกู้ ธ.ก.ส. 10 ล้านบาท และขอให้ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อถึง 8 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงงานและใช้เป็นทุนหมุนเวียนรับซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์
การส่งเสริมสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีความต้องการของตลาด ผ่านหน่วยงานรัฐ ทั้ง บสย. และ ธ.ก.ส เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุน ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ เพื่อลดต้นทุนของกิจการ. – สำนักข่าวไทย