ไทย-เยอรมนีร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0

กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมดึงเยอรมนี ผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ร่วมเป็นหุ้นส่วนไทย-เยอรมนี ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมตั้งคณะทำงานร่วม 2 ประเทศรูปแบบประชารัฐ



นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังร่วมงาน  “Industry 4.0 in Thailand 4.0 : Germany – Thai Partnership for the Industry of Tomorrow ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ประเทศเยอรมนี ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหุ้นส่วนไทย-เยอรมนีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานผ่านรูปแบบกลไกประชารัฐ รวมถึงช่วยยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเอสเอ็มอีจะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ในอนาคตต่อไป จากนั้นขยายโอกาสออกไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนามต่อไป ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางมีความเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศ CLMV ก็จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนานี้ด้วยเช่นกัน ด้านภาคเอกชนเยอรมนี ขณะนี้มีการลงทุนในไทยประมาณ 600 บริษัท และมีโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มอีก


สำหรับคณะทำงานหุ้นส่วนไทย-เยอรมนีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านกลไกประชารัฐมอบหมายให้นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะทำงาน จะกำหนดกรอบการทำงานเบื้องต้นเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้ไป  คณะทำงานฝ่ายไทย ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) และภาคเอกชนผ่านกลไกประชารัฐ  หรือ Public-Private Collaboration ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายเยอรมันจะมีสถานทูตเยอรมัน บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญอุตสาหกรรม 4.0 เช่น BOSCH SIEMENS และSAP เป็นต้น เข้าร่วมขับเคลื่อนการเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้ 

ด้านประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลเดินหน้าปรับเปลี่ยนประเทศตามนโยบาย  Thailand 4.0 โดยมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 76,000 หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตราคาถูกใน 2 ปีข้างหน้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนและออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับแล้ว รวมถึงมีชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่รองรับกับอุตสาหกรรมใหม่ โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียกว่า S-Curve แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม และ 5 อุตสาหกรรมใหม่ ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่จะลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบและสำคัญที่สุด คือ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  

นายอุตตม กล่าวว่า ประเทศเยอรมนีได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 วิสาหกิจเยอรมนีและทรัพยากรมนุษย์ มีการพัฒนาอย่างมากเป็นที่ชื่นชมถึงความเป็นเลิศและการมีนวัตกรรม ซึ่งการที่ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนสู่ Thailand 4.0 จึงสามารถที่จะเรียนรู้จากประเทศเยอรมนีได้ เพื่อเข้าสู่เป้าประสงค์ได้เร็วขึ้นและความเป็นหุ้นส่วนจะไม่ใช่เฉพาะเยอรมนีมาประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถนำเอาความสนใจร่วมกันแบ่งปันปรับห่วงโซ่อุปทานและใช้โอกาสที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขณะนี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงก็จะช่วยทำให้สามารถเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ได้


ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเด็นการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น มีความซับซ้อน ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายทั้งด้านเทคโนโลยี มาตรฐาน การพัฒนากำลังแรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และกฎหมายกฎระเบียบ จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0 Platform) เพื่อเป็นกลไกกลางในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งด้านการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีให้ปรับตัวเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 อาทิ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต (Industry Transformation Center) เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม หรือ startups ในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งได้นำแนวคิดหลักการพัฒนา Industry 4.0 ที่มีประสิทธิภาพของเยอรมัน อาทิ Technische Universitaet Darmstadt (TU Darmstadt) และ Karlsruhe Institute of Technology (KIT) รวมถึง Fraunhofer Institute for Industrial Engineering IAO มาประยุกต์ใช้ด้วย

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีริเริ่มโครงการที่สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) และอยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นโรดแมปของการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (new S curves) ในส่วนของอุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเห็นว่าเป็นโอกาสของภาคการผลิตในการเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับวิถีการผลิตจาก mass production สู่การผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงที่มีรูปแบบเฉพาะตัว (mass customization) ซึ่งทางกระทรวงฯ มีความพร้อมทางด้านบุคลากร ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง และเทคโนโลยีที่พร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0 นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่สามารถนำมาต่อยอดสนับสนุนแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ได้ เช่น โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iTAP) โครงการ Talent Mobility สนับสนุนนักวิจัยเข้าไปช่วยภาคอุตสาหกรรมในการทำวิจัยและนวัตกรรมและโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพและการมาตรฐาน เป็นต้น

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรม 4.0 ถือเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันให้เกิดการใช้แรงงานที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง และใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่ามากขึ้น สำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ของ ส.อ.ท.ได้ทำการสำรวจสถานะอุตสาหกรรมไทย และพบว่าประมาณร้อยละ  70 ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0-2.5 ส.อ.ท.จึงกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นในการสร้างความตระหนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร 3 กลุ่ม ได้แก่ คือ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรกลที่จะช่วยยกระดับจากอุตสาหกรรม 2.0-2.5 ไปเป็นอุตสาหกรรม 3.0 กลุ่ม System Integrator ที่จะนำกลไกต่าง ๆ มาเชื่อมโยงให้เป็นระบบ และกลุ่มผู้ดูแลรักษาระบบให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจึงจะพัฒนาต่อเนื่องไปสู่ระดับอุตสาหกรรม 4.0 และได้ย้ำว่าอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่สิ่งเดียวกับไทยแลนด์ 4.0 แต่เป็นการผลิตที่ยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะทำให้เครื่องจักรต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงการทำงานเป็นระบบ มีการสื่อสารระหว่างกัน รวมถึงมีการผลิตด้วยความเร็วสูงและมีความยืดหยุ่น เกิดนวัตกรรมของบริการและสินค้าใหม่ ๆ สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง. – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยิงสส.กัมพูชา

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” ดับกลางกรุงเทพฯ

ออกหมายจับชายไทย วัย 41 มือยิง ‘ลิม กิมยา” อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ดับใกล้วัดดังกลางกรุง พบเหยื่อมีบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลฮุนเซน

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม

ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา เพิ่มบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ไฟฟ้า เป็นของต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษหากพบเข้าไปข้องเกี่ยว

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา-วอศ.สระบุรี ชนะเลิศแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025

สุดเจ๋ง! นศ.วอศ.เสาวภา และ วอศ.สระบุรี ชนะเลิศในการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ 2025 ณ เมืองฮาร์บิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวแนะนำ

นายกฯ ยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเยาวชน พลังสำคัญของชาติ

นายกฯ มอบโอวาทเด็กและเยาวชนดีเด่น นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ขอให้ทุกคนภาคภูมิใจ มีสติ และรู้คุณค่าในตัวเอง มั่นใจเป็นพลังสำคัญให้กับประเทศชาติ ยืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนด้านการศึกษา และการประกอบอาชีพ

ซิงซิง

ผลมติพบ “ซิงซิง” ตกเป็นผู้เสียหายค้ามนุษย์-ปลอดภัยดี พร้อมกลับบ้าน

“ซิงซิง” ตกเป็นผู้เสียหายค้ามนุษย์ หลังผลมติคัดแยก-คัดกรองออกแล้ว ล่าสุดเจ้าหน้าที่ส่งตัวเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองแล้ว ให้ พม.ดูแลต่อ ขณะที่ทีมกฎหมายของดาราจีน เผยเจ้าตัวปลอดภัยดี พร้อมกลับบ้าน

เลือกตั้ง อบจ.

กกต.เปิดตัว “หมูเด้ง” เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

กกต.จัดกิจกรรม kick off เปิดตัว “หมูเด้ง” เชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. ภายใต้แนวคิด “สร้างสรรค์ประเทศไทย พร้อมใจไปเลือกตั้ง” ด้าน “อิทธพร” ให้ความมั่นใจพร้อมจัดการเลือกตั้งอย่างสุจริต