กรมสุขภาพจิต 11 พ.ค.-กรมสุขภาพจิต เผยผู้ได้รับผลกระทบเหตุระเบิดที่ จ.ปัตตานีเกินครึ่ง ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด กลุ่มเด็กน่าห่วงสุด แนะครอบครัว คนใกล้ชิด ร่วมสังเกต
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังการลงพื้นที่ดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่ จังหวัดปัตตานี ว่า ทีม MCATT รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต ร่วมกับหน่วยบริการของพื้นที่ได้คัดกรองและให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจเบื้องต้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบ รวม 87 คน แบ่งเป็น ผู้ใหญ่ 82 คน (ชาย 26 คน หญิง 56 คน) และเด็ก 5 คน (เด็กผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 3 คน) พบว่า ผู้ใหญ่จำนวน 43 คน ส่วนใหญ่มีระดับความเครียด/วิตกกังวลสูง ซึ่งควรมีการติดตามกลุ่มที่มีประวัติรักษาด้านจิตเวชเดิม และผู้ที่มีความเครียดจากปัญหาส่วนตัวอยู่เดิม
สำหรับกลุ่มเด็ก ยังต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด จากที่พบอาการ มีทั้ง เครียด ซึมเห็นภาพติดตา ผวา กังวลกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์อีก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจะได้รับการดูแลติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นทีมได้แนะนำวิธีจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมทั้งให้ยาคลายกังวลร่วมด้วย ในราย ที่มีอาการตึงเครียดมากหรือนอนไม่หลับ
อย่างไรก็ตามวิธีจัดการปัญหาด้วยตนเองมีความสำคัญมากที่สุด แนะนำพยายามให้ใช้ชีวิตประจำวันตามเดิมเท่าที่ทำได้หรือเป็นปกติมากที่สุด ทั้งเรื่องการกิน การอยู่ และกิจวัตรประจำวันต่างๆ รวมทั้ง พักผ่อนให้เพียงพอ ปรึกษา พูดคุย เรื่องไม่สบายใจ หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดหรือจากคนไว้ใจ ส่วนผู้มีอาการนอนไม่หลับ อาจปฏิบัติตัวดังนี้ นอนเป็นเวลาและตื่นให้เป็นเวลา แม้คืนก่อนหน้านั้นจะไม่หลับ หรือหลับได้น้อยก็ตาม หากเข้านอนแล้วนอนไม่หลับให้ลุกจากที่นอนและกลับมานอนเฉพาะเวลาที่ง่วงนอน ก่อนนอนไม่ควรทานอาหารอิ่มเกิน ไปหรือปล่อยให้หิวและไม่ใช้สุรา หรือสารเสพติด เป็นต้น
สำหรับกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด หากได้รับการดูแลช่วยเหลือจากครอบครัวก็จะสามารถปรับตัวสู่ภาวะปกติได้ โดยรับฟัง เข้าใจและยอมรับความรู้สึก อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดผลกระทบและจะหายไปได้ ตลอดจนดูแลเอาใจใส่เด็กให้มากขึ้น รวมทั้งพยายามให้ทำกิจวัตรประจำวันปกติให้มากที่สุด .-สำนักข่าวไทย