บางเขน 9 พ.ค. – “อภิรมย์ สุขประเสริฐ” ผู้จัดการคนใหม่ ประกาศนำองค์กรสู่ ธ.ก.ส. 4.0 หวังดันพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรโต 45,000 ล้าน ภายใน 4 ปี พร้อมดึงร้านค้าพันธมิตรกว่าหมื่นแห่งดูแลคนจนผ่านบัตรสวัสดิการ
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แถลงทิศทางการดำเนินงานปีบัญชี 2560 ว่า ได้มุ่งเน้นยกระดับองค์กร เพื่อเป็น ธ.ก.ส. 4.0 พัฒนากลุ่มผู้ประกอบการภาคการเกษตร (เอสเอ็มอี) ที่มีศักยภาพ จึงต้องการเพิ่มสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีเกษตรขยายตัวร้อยละ 40 ในช่วง 4 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มจาก 40,000 ล้านบาท เป็น 45,500 ล้านบาท จำนวน 32,000 ราย เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็งเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตสินค้าเกษตร จากเป้าหมายเติบโตด้านสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 7 ไม่รวมสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาล จากสินเชื่อรวม 1.27 ล้านล้านบาท ควบคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกินร้อยละ 4
สำหรับการลงทะเบียนรับสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. ประมาณ 6.5 ล้านราย รวมทั้งระบบลงทะเบียนประมาณ 11-12 ล้านราย เตรียมปิดลงทะเบียนวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายโอนเงินเข้าบัตรของผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติแล้ว จึงเตรียมพร้อมเปิดให้ชาวบ้านมารับบัตรและพร้อมเป็นช่องทางการเติมเงินรายเดือนให้กับผู้เข้าข่ายเงื่อนไขการช่วยเหลือ รวมทั้งดึงร้านค้าเครือข่าย ธ.ก.ส.ทั้งสหกรณ์การเกษตรและร้านค้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องรับบัตร EDC กว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้รูดซื้อสินค้าจำเป็นในการครองชีพ
นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ผู้ลงทะเบียนกับ ธ.ก.ส. นั้น ต้องนำชาวบ้านผู้ลงทะเบียนมาแบ่งกลุ่มผ่านอาชีพและรายได้ สำหรับกลุ่มอาชีพแบ่งเป็นเกษตรกร 2 ล้านราย รับจ้างทำการเกษตรแต่ไม่มีที่ดินของตนเอง 300,000 ราย ส่วนกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ตามเกณฑ์ความยากจน มีทั้งนักศึกษาและชาวบ้านทั่วไป เมื่อแบ่งกลุ่มอาชีพชัดเจนแล้ว หากเป็นกลุ่มรายได้ต่ำต้องนำมาฝึกอาชีพเพื่อหารายได้เสริม และหากต้องการกู้เงินฉุกเฉินพร้อมพิจารณาให้ 50,000 บาทต่อราย ระยะเวลากู้ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำ และดูแลให้พ้นภาระจากหนี้นอกระบบ ก่อนจะมีกำลังประกอบอาชีพ
สำหรับการดูแลเสถียรภาพราคาข้าว เมื่อรัฐบาลยกเลิกนโยบายการจำนำข้าวเปลือก ธ.ก.ส.จึงร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศึกษาแนวทางดูแลข้าวผ่านหลายมาตรการ ทั้งมาตรการช่วยเหลือในอดีตและแนวทางของต่างประเทศ เพื่อประเมินความเสี่ยง ความเสียหายที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ความสำเร็จของโครงการ และภาระต่องบประมาณ เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย และความยั่งยืนระยะยาว คาดว่าจะสรุปแนวทางได้ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า และเสนอรัฐบาลพิจารณา เพื่อเตรียมการรองรับฤดูการปลูกข้าวช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม. – สำนักข่าวไทย