มหาสารคาม 8 พ.ค.-มะละกอเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของส้มตำ ซึ่งมะละกอที่ใช้ตำส้มตำบางพันธุ์มีข้อด้อย เช่น อ่อนแอต่อโรคจุดวงแหวน เนื้อไม่กรอบ ทำให้ตำส้มตำไม่อร่อย และผลผลิตต่ำ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จึงปรับปรุงสายพันธุ์มะละกอ เพื่อเป็นพันธุ์สำหรับตำส้มตำ นั่นคือพันธุ์ศรีราชภัฏ
กรอบ ผลยาว ร่องตื้น ให้ผลผลิตสูง ทนทานโรคใบจุดวงแหวน คือลักษณะเด่นของมะละกอสายพันธุ์ศรีราชภัฏ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนามะละกอบริโภคสด จังหวัดมหาสารคาม และกลุ่มอีสานตอนกลาง คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ใช้เวลากว่า 7 ปี ปรับปรุงสายพันธุ์ ให้เหมาะกับภาคอีสาน และเหมาะกับการบริโภคดิบ นำไปทำส้มตำ ที่นอกจากเนื้อกรอบ ปอกง่าย ขนาดผลยังเหมาะมือ ทำให้สับมะละกอได้ง่าย กว่าจะได้ต้นมะละกอที่สมบูรณ์ต้องผ่านการคัดเมล็ดพันธุ์
มะละกอศรีราชภัฏให้ผลดกมากกว่า 100 ผลต่อต้น เริ่มออกดอกตั้งแต่อายุ 3 เดือน 5 เดือน เก็บผลผลิตได้ การดูแลไม่ยาก ช่วง 1-3 เดือนแรกให้น้ำทุกวัน จากนั้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเทคนิคการปลูกมะละกอที่ศูนย์วิจัยมะละกอกำลังส่งเสริมเกษตรกรอยู่ขณะนี้คือ ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น
การปลูกมะละกอให้ได้ผลผลิตดีต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นพันธุ์ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม คือดินร่วนและมีอินทรีย์วัตถุ น้ำไม่ขัง และหมั่นตรวจแปลง เมื่อพบการเกิดโรคต้องรีบกำจัดทิ้ง มะละกอศรีราชภัฏเหมาะกับเกษตรกรที่ต้องการปลูกสร้างรายได้ เพราะปลูกง่าย ต้านทานโรค ผลผลิตสูง ที่สำคัญยังเป็นที่ต้องการของตลาด.-สำนักข่าวไทย