กรุงเทพฯ 7 พ .ค. – เงินบาทกลับมาอ่อนค่าปลายสัปดาห์ ขณะที่หุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อย จับตาถ้อยแถลงเฟด-การเมืองยุโรป บล.กสิกรไทยมองแนวรับ 1,535-1,555 จุด
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-5 พ.ค.) เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะทยอยลดช่วงบวกลง และอ่อนค่ากลับมาทดสอบระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ การอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียและราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ก็มีแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC เดือนมิถุนายนนี้ สำหรับวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม เงินบาทอยู่ที่ 34.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน
สำหรับสัปดาห์หน้า (8-12 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.45-34.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของนักลงทุนช่วงต้นสัปดาห์น่าจะอยู่ที่การตอบรับของตลาดต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ของฝรั่งเศส ขณะที่ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายนและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ตลาดน่าจะมีจุดสนใจเพิ่มระหว่างสัปดาห์ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเมษายนของจีน
ส่วนความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-5 พ.ค.) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,569.02 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงร้อยละ 12.96 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 35,871.60 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 584.63 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.24 จากสัปดาห์ก่อน
สำหรับสัปดาห์หน้า (8-12 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และปัจจัยการเมืองในยุโรป หลังการเลือกตั้งในฝรั่งเศส ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก และดัชนีราคาผู้บริโภค ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ เครื่องชี้ภาคการผลิตในยูโรโซน และตัวเลขเศรษฐกิจจีน.-สำนักข่าวไทย