กรุงเทพฯ 6 พ.ย.- “ธีรภัทร์” เผย สพม. ระดมความเห็นกฎหมายลูก 4 ฉบับเสนอกรธ. เตรียมจัดโฟกัสกรุ๊ปเชิญนักการเมือง-อดีต ส.ว. กรรมการองค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม ร่วมระดมความเห็น
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำประเด็นและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่า ทาง สพม.ได้ดำเนินการใน 3 ส่วน ประกอบด้วย การร่วมมือกับทางนิด้าโพลล์” ของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในการไปสอบถามคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับร่างฯ พ.ร.บ.ทั้ง 4ฉบับ จำนวน 7,500 ชุด โดยจะสรุปผลในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งดำเนินการโดยคณะกรรมประสานงานระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ซึ่งได้กำหนดประเด็นรับฟังความเห็นในลักษณะเดียวกันกับการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลล์ และจะมีการสรุปผลกลับมาในวันที่ 11 พฤศจิกายนเช่นเดียวกัน
นายธรภัทรธ์ กล่าวว่า นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป เพื่อระดมความเห็นจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนักการเมือง อดีต ส.ว. องค์กรอิสระ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ที่จะจัดในวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น. และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาพัฒนาการเมือง เพื่อรับทราบ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนความเห็นที่ สพม.ส่งไปจะได้รับการพิจารณาหรือไม่ ขึ้นกับดุลพินิจของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
เมื่อถามว่าการเขียนกฎหมายของ กรธ. ที่มีลักษณะจำกัดและคุมเข้มกลุ่มการเมือง จะส่งผลดีต่อการเมืองในอนาคตอย่างไร นายธีรภัทร์ กล่าวว่า ตนยังไม่รู้ว่ามีการจำกัดไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งในเรื่องนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เราได้ไปสอบถามประชาชน และจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำโฟกัสกรุ๊ปที่ สพม.จะจัดขึ้นด้วย ส่วนการกำหนดบทลงโทษถึงขั้นตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น นายธีรภัทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูระดับความรุนแรง ว่ามีการกำหนดไว้มากน้อยเพียงใด แต่ที่ผ่านมามีการกำหนดโทษไว้ 5 ปี ก็ดูเหมือนนักการเมืองจะไม่เข็ด การจะมากำหนดเพิ่มถึงขั้นตัดสิทธิ์ทางการเมือง ควรต้องดูขนาดความรุนแรง ว่าเราจะให้โอกาสคนขนาดไหน
นายธีรภัทร์ ยังกล่าวถึงแนวคิดในการเซทซีโร่ องค์กรอิสระ ว่า ตนยังไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อมีผลใช้บังคับจะมีผลอย่างไรกับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ถ้ามีการกำหนดคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ใหม่ และมีผลต่อคุณสมบัติของผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก็อาจจะต้องเซทซีโร่ แต่ถ้าไม่ได้มีอะไรที่มีผลกับผู้ที่ทำหน้าที่อยู่ก็ไม่จำเป็นต้องเซทซีโร่ แต่ทั้งนี้ก็คงต้องไปดูในหลักการและแนวทางที่กำหนดไว้ .-สำนักข่าวไทย