กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – กฟผ.เตรียมปรับกลยุทธ์ใหม่ หลังเทรนด์โลกลดใช้ฟอสซิล ด้าน ก.พลังงานเตรียมเกลี่ยโควตาโซลาร์ฟาร์มราชการ 300 เมกะวัตต์ มารับซื้อโซลาร์รูฟท็อปรอบ กทม. ด้านบีซีพีจีฮุบ 3 โรงไฟฟ้าใต้พิภพอินโดนีเซีย 182 เมกะวัตต์ลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า วันที่ 29 เมษายนนี้ คณะผู้บริหาร กฟผ.จะประชุมเพื่อปรับยุทธศาสตร์องค์กร ให้เป็นไปตามเทรนด์ หรือของโลกมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการใช้พลังงานของโลกเปลี่ยนแปลงมาก โดยเน้นไปสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น ขณะที่การใช้พลังงานฟอสซิลเริ่มลดลง โดยบริษัทพลังงานทั่วโลกปรับตัวมาสู่พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (ENERGY STORAGE ) การพัฒนารถไฟฟ้า (อีวี ) ดังนั้น กฟผ.ต้องปรับตัวรับภาวะเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน
ส่วนกรณีที่ให้นโยบาย กฟผ.ให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ 2,000 เมกะวัตต์ เช่น โรงฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) บนอ่างเก็บน้ำในเขื่อนต่าง ๆ รวมถึงใช้ ENERGY STORAGE โดยให้เน้นย้ำผลิตไฟฟ้าแบบเสถียรรูปแบบสัญญาที่สามารถกำหนดการผลิตได้แน่นอน (Firm Contract) นับเป็นการนำร่องการวิจัยและสามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ยาวนานมากขึ้น จากปัจจุบันนี้พลังงานทดแทนมีปัญหาว่าใช้ได้ในช่วงที่มีแหล่งเชื้อเพลิง เช่น ช่วงมีแสงแดด ช่วงมีลม เท่านั้น
นายอารีพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนโควตาของการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการที่พบว่ามีเพียงองค์การทหารผ่านศึกเป็นหน่วยงานของส่วนราชการที่สามารถดำเนินโครงการได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จึงทำให้รับซื้อได้จำกัดเพียง 100 เมกะวัตต์จากที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประกาศว่าจะรับซื้อส่วนนี้ 400 เมกะวัตต์ ในส่วนโควตาที่เหลือ 300 เมกะวัตต์ กระทรวงฯ จะนำไปรวมเป็นโควตาพลังงานทดแทนที่จะเปิดรับซื้อใหม่ แต่จะเป็นของส่วนใดนั้น จะพิจารณารายละเอียดต่อไป โดยส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งจะเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก เพราะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงจะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ที่แต่ละวันเกิดขึ้นเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้ลดภาระการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมาได้
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี2015) แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะก่อสร้างได้หรือไม่ โดยเรื่องโรงไฟฟ้ากระบี่รอทาง คสช.สรุปหลังจัดชี้แจงรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคใต้และจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีวันที่ 28 เมษายนนี้ โดยต้องรอว่านายกรัฐมนตรีจะให้ก่อสร้างหรือไม่ ขณะเดียวกันได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทิศทางการใช้เชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะพิจารณารวมจากทุกแผนงาน เช่น แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนพลังงานทดแทน ว่าจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่
วันนี้ (26 เม.ย.) กระทรวงพลังงานได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานประจำปี 2560 โดยมีผู้บริหารและทุกหน่วยงานของกระทรวงพลังงานเข้าร่วม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์พลังงานของประเทศ ชูศักยภาพการบริหารวิกฤตพลังงาน โดยจำลองสถานการณ์สมมติเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องด้วยการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซียรวม 3 โครงการ กำลังการผลิต 182 เมกะวัตต์ ผ่านการซื้อหุ้นบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ผู้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ คาดว่าจะซื้อขายเสร็จไตรมาส 2 ปีนี้และเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันที
ทั้ง 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้า Wayang Windu กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 347 เมกะวัตต์ (เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 227 เมกะวัตต์ ด้วยสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 20 2.โรงไฟฟ้า Salak กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 377 เมกะวัตต์ ร้อยละ 17.3 และ 3.โรงไฟฟ้า Darajat กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมเทียบเท่า 271 เมกะวัตต์ ร้อยละ 17.3 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Salak และ โรงไฟฟ้า Darajat ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด ซึ่งบีซีพีจีจะใช้เงินลงทุนครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 357.5 ล้านเหรียญหรือประมาณ 12,341 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดภายในบริษัทร่วมกับเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน.- สำนักข่าวไทย