กรุงเทพฯ 24 เม.ย.-แพทย์แนะ 9 วิธีแก้ หากสำรวจตัวเองพบ 3 อาการ ‘เหนื่อยง่าย-นอนหลับไม่ดี-ไม่มีสมาธิ’ ซึ่งเข้าข่ายอารมณ์เสียเพราะอากาศ ร้อน เช่น ไม่ใช้ชีวิตกลางแดดแรงนานๆ ,ไม่ออกแรงหนัก,ไม่ใช้ชีวิตรีบ ,จิบน้ำเป็นระยะ ,อยู่ในห้องแอร์ และแก้กลุ้มด้วยออกกำลังใจ ฯลฯ
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ กล่าวว่า อากาศร้อน ๆในช่วงนี้ การได้จิบชามะนาวหรือน้ำอัดลมเย็นๆอาจช่วยให้รู้สึกสดชื่น แต่บางครั้งอากาศที่ร้อนขึ้นทำให้อารมณ์ไม่สบายอย่างน่าประหลาดอย่างที่น้ำเย็นไม่อาจดับได้เพราะอากาศมีผลกับอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งความร้อนในบ้านเรามีหลายแบบทั้งร้อนเปรี้ยง ร้อนอบอ้าวและร้อนชื้นที่ชาวต่างชาติไม่ชินจะบอกว่าอึดอัด เรื่องความรุ่มร้อนนี้มนุษย์แต่ละคนมีขีดความทนต่างกันแต่อย่างน้อยสิ่งสำคัญคือควรต้องสะกดอารมณ์ได้และไม่ทำให้อาการหัวร้อน อารมณ์ร้ายขี้หงุดหงิดนี้ทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนอื่น
นพ.กฤษดา กล่าวต่อไปว่า วิธีสำรวจตัวเองว่ากำลังจะเข้าข่ายอารมณ์เสีย เพราะอากาศหรือเปล่า ดูจาก 3 อาการหลักคือเหนื่อยง่ายขึ้น นอนหลับไม่ดี ไม่มีสมาธิ ซึ่งเมื่อร่างกายทนเครียดจากร้อนไม่ไหวก็กลายเป็นความหุน หันพลันแล่นด่วนตัดสินใจที่เสี่ยงผิดพลาดได้มาก ซึ่งเรื่องนี้ในทางอายุร วัฒน์มีทางออกให้อยู่ ซึ่งผู้สนใจเลือกนำไปปฏิบัติได้ตามไลฟสไตล์ของแต่ละคน ดังนี้ คือ
1.จำกัดเวลา อย่าใช้ชีวิตกลางแดดแรงนานๆ ถ้าเป็นการงานกลางแดดก็ควรต้องหาสิ่งปกป้องร่างกายจากแสงแดดกล้าให้ดี ส่วนที่เลี่ยงได้ขอให้จำกัดเวลาช่วงตั้งแต่ 09.00-17.00น.ซึ่งเป็นเวลาแดดแรงให้น้อยที่สุด
2.อย่าออกแรงหนัก ขออย่าหักโหมเข้ายิมจนหัวทิ่มเหมือนกับฤดูที่ไม่ร้อนนักเพราะความร้อนมีสิทธิ์ทำให้เสียน้ำจนมึนศีรษะได้ง่ายเข้าข่ายอาการวูบ ขณะออกกำลังในฟิตเนส ขอให้ออกแรงได้แต่ให้ตระหนักไว้ว่าต้องไม่หนักจนเกินไปหรือถ้าเหนื่อยตาลายแล้วต้องพักอย่าฝืน
3.ยึดหลักไม่เที่ยง การที่จะเลี่ยงกระทบกระทั่งจากอารมณ์ร้อนได้ดีที่สุดคือต้องถือสติเป็นที่ตั้ง บางครั้งการนับ 1 ถึง 100 แล้วก็ยังไม่อาจหยุดโมโหได้ขอให้ยึดไตรลักษณ์ว่าแล้วมันจะผ่านไปไม่มีอะไรตั้งอยู่ถาวรแม้แต่คนที่ทำให้เราโกรธหรืออารมณ์โทสะของเราเอง
4.ความเสี่ยงจากยา ผู้ที่รับ ประทานยาประจำตัวอยู่ให้จับตาโดยเฉพาะยาขับปัสสาวะที่มักถูกสั่งจ่ายในคนไข้ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจหรือคนที่บวมน้ำ เหตุที่ต้องระวังเพราะน้ำในร่างกายถือเป็นของมีค่าหน้าร้อน การที่ถูกขับออกไปมากทำให้มีสิทธิ์ขาดน้ำจนเกิดอาการฉุนเฉียวได้เช่นกัน
5.อย่าใช้ชีวิตรีบขอให้ทำชีวิตให้ผ่อนคลายเท่าที่ทำได้คอยเตือนตัวเองด้วยการหายใจเข้าออกช้าๆและลึก ค่อยๆฝึกการใช้ชีวิตแบบไม่เร่งรีบนักจะช่วยให้ไม่เสียพลังงานไปกับหน้าร้อนนี้มากเหมือนกับผู้ที่เสพติดความรีบร้อนครับ
6.จิบน้ำช่วยได้ เช่นเดียวกับการป้องกันสุขภาพจากความร้อนเรื่องอื่น การดับอารมณ์ที่ร้อนด้วยน้ำเย็นๆก็ช่วยได้เช่นกัน ขอให้จิบน้ำไว้เป็นระยะระหว่างวันแล้วคอยป้องกันไม่ให้เกิดอาการขาดน้ำโดยไม่รู้ตัวเช่น สังเกตว่าปากแห้ง ปัสสาวะสีเข้มและมีเหงื่อออกมาก ควรต้องหาทางเสริมน้ำเอาไว้ให้ร่างกายอยู่เสมอครับ
7.อยู่ในห้องแอร์ การได้พักอยู่ในห้องที่ปรับอากาศเย็นสบายหน่อยช่วยผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียดได้เยอะ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเปิดแอร์ในที่พักส่วนตัวก็ใช้วิธีเดินห้าง,เข้าห้องสมุดชุมชนหรือขึ้นรถประจำทางปรับอากาศก็ได้ เพราะความเย็นที่ได้จากห้องแอร์นั้นถ้าเป็นครั้งคราวอย่างเหมาะสมก็ช่วยเราได้มาก
8.แก้ด้วยความสุขุม ขออย่าตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ขณะที่อารมณ์ไม่ดีเพราะความร้อน ขอให้เลี่ยงการกระโดดถลำลึกลงไปในปัญหามากขึ้นเพียงเพราะแค่ตัดสินใจตามอารมณ์เท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องรู้ตัวเองว่าเมื่อใดควรหยุดพักไว้ก่อนแล้วขอคิดอีกทีในภายหลังก็ได้ ขอให้รอไปก่อนเพราะไม่ว่าใครก็ย่อมมีเวลาที่ไม่พร้อมด้วยกันทั้งสิ้น
9.แก้กลุ้มด้วยออกกำลังใจ ใช้วิธีออกกำลังสมองและหัวใจ ด้วยการเล่นกีฬา ลุกขึ้นมานั่งฟังเพลงและหลับตานึกถึงวันเวลาที่สวยงามยามไปเที่ยวกับครอบครัว ถ้าให้ดีกว่านั้นคือฝึกปฏิบัติจิตใจ เข้าสมาธิก็ได้หรือฝึกใช้เหตุผลก่อนอารมณ์ก็ถือเป็นการออกกำลังจิตใจให้รับมือกับความหงุดหงิดที่จะเกิดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้-สำนักข่าวไทย