กลาโหม 20 เม.ย.- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า การประชุมในวันนี้(20เม.ย.)มีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ซึ่งในที่ประชุมได้หารือถึงบทสรุปของข้อเสนอแนะต่างๆ ที่คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 ได้รวบรวมไว้ในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนั้นผู้ร่วมประชุม ทั้งคณะที่ปรึกษา รัฐมนตรี ได้ร่วมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก่อนส่งกลับไปยังคณะอนุกรรมการชุดที่ 1 เพื่อรวบรวมและส่งให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ต่อไป ทั้งนี้จากการหารือในที่ประชุมพบว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอต่างๆ ที่กลุ่มการเมืองนำเสนอเข้ามา อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดต้องบูรณาการ เพื่อตอบโจทย์ที่ประชาชน พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้ข้อคิดเห็นมา และคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 จะต้องไปบูรณาการ เพื่อตอบสังคมให้รับทราบทั้งหมด จากนั้นจะส่งต่อให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ดำเนินการ
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา ว่า อนุกรรมการฯ ชุด 3 จะต้องจัดทำร่างสัญญาประชาคม ให้แล้วเสร็จในช่วงไหน เนื่องจากต้องการให้เวลากับผู้ปฏิบัติงาน ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่
ด้าน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 ไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องที่มีการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยให้รวบรวมและสรุปข้อมูลทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ทั้งนี้ในวันที่ 26 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมกลุ่มย่อยตรวจทานข้อเสนอทั้งหมด ในพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนในต่างจังหวัดให้กอ.รมน.ภาค รับผิดชอบ ซึ่งจะดำเนินการทั้งหมด 3 ครั้ง แบ่งเป็น 4 ภาค โดยพื้นที่ภาคเหนือ จะจัดประชุมที่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ภาคกลาง จัดที่ กทม. สระบุรี เพชรบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ส่วนภาคใต้ จัดที่กระบี่ สุราษฎ์ธานี และสงขลา โดยความเห็นร่วมทั้ง 10 หัวข้อ ที่กลุ่มต่างๆเข้าให้ความเห็นกับคณะอนุกรรมการชุดที่ 1 นั้น สรุปคร่าวๆ ดังนี้ ข้อการเมือง ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน สร้างบรรยากาศการเมือง ไปสู่การเลือกตั้ง โดยให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ นักการเมืองต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ในหัวข้อความเหลื่อมล้ำ ส่วนใหญ่ผู้ให้ข้อมูลมองว่า ควรให้ความเป็นธรรม เพิ่มโอกาสในการถือครองที่ดินและน้ำอย่างเท่าเทียม เสนอให้มีการเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า และสร้างเขื่อนเก็บน้ำให้เพียงพอ ส่วนในหัวข้อสื่อมวลชน มองว่า สื่อต้องมีการปฏิรูปและพัฒนา ไม่บิดเบือน เป็นอิสระ รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ส่วนในหัวข้อการทุจริตคอรัปชั่น มองว่า ควรเพิ่มกลไกในการตรวจสอบการทุจริต ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม คดีความที่เกี่ยวกับการทุจริตต้องไม่มีอายุความ ซึ่งความเห็นและข้อเสนอใน 10 หัวข้อดังกล่าว ได้จัดทำเป็นข้อมูล 5 กลุ่ม คือ 1.เป็นเรื่องที่รัฐบาลและคสช. ได้ดำเนินการไปแล้ว 2.เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ทันที 3.เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ 4.เป็นเรื่องที่ต้องสร้างการรับรู้ ป้องกันการขยายความขัดแย้ง และ 5.เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
ทั้งนี้พล.ต.คงชีพ ระบุว่า พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้คณะกรรมการ ทั้ง 4 ชุด ให้เกียรติและรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ใส่ใจในรายละเอียด แต่ทุกข้อเสนอต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปรองดอง และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขต่อไป ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีความพอใจการทำงานของอนุกรรมการทั้งหมด เพราะทุกคนมีความรู้ความสามารถ ตั้งใจทำเพื่อส่วนรวม.-สำนักข่าวไทย