ปทุมวัน 20 เม.ย.-นักวิชาการเผยสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย อีกไม่เกิน 15 ปีวัยทำงาน 2คนต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ-เด็ก อย่างละ 1 คน แบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกิดความเครียด แนะรัฐวางแผนรับ
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่าย เปิดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “สังคมสูงวัย..ก้าวไปด้วยกัน” โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ ปี 2548 และคาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด
รมว.พัฒนาสังคมฯ กล่าวต่อว่า สถานการณ์เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม เป็นความท้าทายของประเทศที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพตั้งแต่วัยทำงาน โดยเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่สร้างหลักประกันด้านรายได้ การออมในช่วงวัยทำงานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพในวัยเกษียณหรือวัยสูง อายุ สร้างพฤติกรรมดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับวัยในแต่ละช่วง เตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่า บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยมีคนในครอบครัวเกื้อหนุน ชุมชนช่วยเหลือ สังคมรัฐเกื้อกูล
ด้านนายวรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุล่าสุด ในปี 2558 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 10.5 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 15.8 ขณะที่จากการคาดการณ์ประชากรในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงขึ้นถึง19 ล้านคนหรือร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) การเปลี่ยนแปลงทางประชากรสู่สังคมสูงวัยเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องตระหนัก โดยเฉพาะอัตราส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยสูงอายุ 1คน ลดลงเรื่อยๆ โดยอีกไม่เกิน 15 ปี ประชากรไทยจะเริ่มเข้าสู่รูปแบบที่วัยแรงงานต้องรับภาระการเลี้ยงดูกลุ่มประชากรผู้สูงอายุและเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ
จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 4 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (4:1:1) กลายเป็นสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 2 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (2:1:1) ทำให้ครอบครัวจะต้องประสบกับปัญหาความเครียดจากภาระค่าครองชีพและภาวะหน้าที่ที่ต้องดูแลคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ด้านเศรษฐกิจ พบผู้สูงอายุร้อยละ 16.13 ยังคงเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ผู้สูงอายุร้อยละ 38.3 ยังคงทำงาน มีเพียงร้อยละ 18.5 ที่ต้องการทำงานด้วยความสมัครใจ แสดงว่าผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทำงานเพราะความจำเป็นในการหารายได้เพื่อใช้ดำรงชีวิต ขณะที่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่กว่า 24 ล้านคนไม่มีหลักประกันรายได้กรณีชราภาพ และมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 35.7 ที่มีแหล่งรายได้จากเงินออมหรือการถือครองทรัพย์สิน ดังนั้นย่อมเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามชราภาพ ซึ่งภาครัฐต้องทำงานอย่างหนักในการหามาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคที่ประชากรวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัวในยุคสังคมสูงวัยที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวหรือผู้สูงอายุอยู่ลำพัง 2 คนจะใช้ชีวิตอย่างไร นอกจากนี้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่สุขภาพแย่ลง และต้องได้รับการดูแลยาวนานขึ้นด้วย .-สำนักข่าวไทย