กรุงเทพฯ 18 เม.ย. – เอกชนรอดูความชัดเจนโซลาร์รูฟท็อปเสรีรอบ 2 ชี้ต้องแก้ข้อจำกัดทั้งขนาดรับซื้อแต่ละพื้นที่และค่าไฟรับซื้อให้เหมาะสม เผยเทรนด์โชว์รูมรถยนต์ติดโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น
น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด เครือบริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยว่า บริษัทรอดูความชัดเจนโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีรอบ 2 ที่รัฐบาลจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการว่าจะเปิดอย่างไร จากเบื้องต้นที่รับทราบว่าจะให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ด้วย จากรอบแรกเป็นการเปิดให้ประชาชนติดแผงผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง แต่พบว่าบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเข้าร่วมโครงการน้อยมาก นอกจากนี้ ที่สำคัญภาครัฐควรแก้เงื่อนไขสัดส่วนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในพื้นที่แต่ละชุมชน จากข้อกำหนดห้ามเกินร้อยละ 15 ของมิเตอร์เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะไม่เช่นนั้นปริมาณผู้เข้าร่วมโครงการก็จะถูกจำกัดอยู่ดี
“ช่วงนี้เป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตใช้เอง โดยโชว์รูมรถยนต์หันมาติดตั้งมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าไฟ ส่วนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มากขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปหน่วยละ 1-2 บาท คาดว่าจะจูงใจให้ประชาชนติดตั้งมากขึ้น” น.ส.เกษรา กล่าว
น.ส.เกษรา กล่าวด้วยว่า ปีนี้เครือเสนามีการลงทุน 10 โครงการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า วงเงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนค่าส่วนกลางร้อยละ 10-20 และตอบสนองความต้องการผู้อยู่อาศัยที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่เครือเสนาติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าหรือ EV Charging Station ไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โครงการเสนาวิลล์ บรมราชชนนี-สาย 5, โครงการเสนาพาร์ค วิลล์ รามอินทรา-วงแหวน , โครงการ นิช โมโน สุขุมวิท 50 และโครงการนิช โมโน พีค บางนา
สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของเสนาโซลาร์ปี 2560 บริษัทตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากโซลาร์ฟาร์ม 200 ล้านบาท และรายได้จากการติดตั้งโซลาร์รูฟ 200 ล้านบาท โดยมีการเติบโตที่มาจากธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์ร้อยละ 300
ส่วนการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ฯ รวม 219 เมกะวัตต์ช่วงปลายเดือนเมษายนนี้และคัดเลือกผู้ที่ประสงค์จะเป็นเจ้าของโครงการที่ผ่านการตรวจคุณสบัติ (โดยวิธีการจับสลาก) วันที่ 5 มิถุนายน 2560 นั้น ทางบริษัทคงไม่เข้าร่วมเสนอโครงการ โดยมองว่าอัตราที่กำหนดรับซื้อรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี และโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะมีค่า FiT Premium จำนวน 0.50 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราที่แทบจะไม่มีกำไร แม้ค่าแผงโซลาร์จะมีการลดลงจากในอดีตแล้วก็ตาม.-สำนักข่าวไทย