กรุงเทพฯ 8 พ.ย. – กรมชลฯ เร่งต่อยอดโครงการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง สัญญา 2 เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
วันนี้ (8 พ.ย.) นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายโสภณ ธรรมรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) กรมชลประทานร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” งานเดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง สัญญา 2 โครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ณ บ้านป่าสักงาม ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
นายโสภณ เปิดเผยว่า การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวงเป็นการเจาะในชั้นหินครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้ทั้งเทคนิคการขุดเจาะระเบิด ซึ่งจะสามารถดำเนินการเฉลี่ยประมาณ 4 – 6 เมตร/วัน และเทคนิคการใช้เครื่องเจาะ Tunnel Boring Machine ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 12-20 เมตรต่อวัน การใช้เทคนิคผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาประสิทธิภาพความเหมาะสมทางเทคนิค ต้นทุน และความจำเป็นของสภาพแวดล้อม เช่น สภาพหิน โครงสร้างหิน น้ำใต้ดิน เพราะต้องดำเนินการเจาะอุโมงค์ ซึ่งมีความลึกจากผิวดิน ประมาณ 300 เมตร จนถึง 700 เมตร ซึ่งการเจาะอุโมงค์ในช่วงนี้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20เมตร
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ จะก่อสร้างเป็น 2 ช่วงคือ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง – แม่งัด ระยะทางตั้งแต่ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ซึ่งกั้นลำน้ำแม่แตง จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แบ่งออกเป็น 2 สัญญา มีกำหนดเสร็จพร้อมกันทั้ง 2 สัญญาปี 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมงานเบื้องต้น ขอหนังสือรับรองเพื่อประกอบการขออนุญาตมีและใช้วัตถุระเบิด และอุปกรณ์ และเริ่มกระบวนการออกแบบ จัดหาเครื่องเจาะ Tunnel Boring Machine อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด – แม่กวง ระยะทางตั้งแต่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แบ่งออกเป็น 2 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 มีความยาวอุโมงค์ 12.500 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2558 กำหนดเสร็จปี 2564 ส่วนสัญญาที่ 2 มีความยาวอุโมงค์ 10.476 กิโลเมตร เริ่มขุดเจาะวันนี้กำหนดเสร็จปี 2562 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานอาจจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดเล็กน้อยเนื่องจากช่วงก่อนที่จะเริ่มดำเนินการยังคงมีปัญหาเรื่องการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับการขุดระเบิดอุโมงค์ ผ่านหินไม่ดีส่งผลให้การทำงานต้องมีขั้นตอนการปรับปรุงเสถียรภาพภายในอุโมงค์
นายโสภณ กล่าวด้วยว่า อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานให้กรมชลประทานดำเนินก่อสร้างตั้งแต่ปี 2519 เพื่อประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภคและการเกษตร ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 175,000 ไร่ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่แตง ลุ่มน้ำแม่งัด ลุ่มน้ำแม่กวง เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งความคืบหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่กวง ที่มีความต้องการน้ำสูงขึ้น ทั้งด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ 137 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะเพิ่มเป็น 173 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงต้องมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) จะส่งน้ำส่วนเกินประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นจะส่งน้ำส่วนเกินของลำน้ำแม่แตงประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และน้ำส่วนเกินของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมเป็นปริมาณน้ำที่ส่งผ่านอุโมงค์จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทั้งสิ้นประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในลุ่มน้ำแม่กวง ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรกรรมได้
ขณะเดียวกันกรมชลประทานยังมีโครงการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้ประชาชนที่อยู่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิงได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ทำให้มีความมั่นคงในเรื่องน้ำตลอดปี ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ลดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในลุ่มน้ำแม่แตง รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธาราในฤดูแล้งจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ อีกด้วย
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีไม่ปล่อยน้ำเข้าคลองชลประทาน ทำให้น้ำท่วมเมืองเพชรบุรี ว่า ในช่วงที่แม่น้ำเพชรบุรีมีปริมาณน้ำมาก กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเพชรบุรี ในการแบ่งรับน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีตามศักยภาพที่จะสามารถรับได้ โดยได้มีการแจ้งประสานไปยังกลุ่มชาวนาในพื้นที่ เพื่อขอให้ระบายน้ำลงสู่คลองชลประทาน แต่เนื่องจากกลุ่มชาวนาในพื้นที่มีความหวั่นวิตกว่า ปริมาณน้ำที่จะรับเข้าไปในคลองชลประทานจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวที่อยู่บริเวณด้านปลายคลอง กรมชลประทานจึงทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวนาดังกล่าว โดยมีข้อตกลงว่ากรมชลประทานจะรับน้ำเข้าคลองในระดับที่น้ำเต็มคลอง ซึ่งกลุ่มชาวนาในพื้นที่ต่างมีความเข้าใจในข้อตกลงและยินยอมให้นำน้ำเข้าคลองได้ โดยไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งตามมาแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย