ทำเนียบรัฐบาล 8 พ.ย. – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อหวังสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ การสร้างความมั่นคงทางรายได้ การมีที่อยู่อาศัย เนื่องจากปี 60 รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณดูแลผู้สูงอายุผ่านเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สมทบผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สมทบผ่านกองทุนประกันสังคม การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ ประมาณ 287,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 698,000 ล้านบาทในปี 2568 นับว่ารัฐบาลเป็นห่วงภาระดังกล่าวที่สูงขึ้นมาก จึงได้ออก 4 มาตรการ ได้แก่ 1.กำหนดให้บริษัทเอกชน องค์กรนิติบุคคล นำค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้าง เงินเดือนจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยนำรายได้หักไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และต้องหักค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 10 ของลูกจ้างทั้งหมด โดยคาดว่าลูกจ้างที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีมากกว่า 94,000 คน
2.การสร้างที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ ผ่านโครงการใช้ที่ราชพัสดุมาใช้สร้างที่อยู่อาศัย 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ใช้พื้นที่ 50 ไร่ นครนายก 14 ไร่ เชียงใหม่ 7.5 ไร่ เชียงราย 64 ไร่ โครงการดังกล่าวจะเป็นรูปแบบคอมเพล็กซ์ดูแลผู้สูงอายุ มีกิจกรรมดูแลการอยู่รวมกับและช่วยเหลือสังคม กำหนดให้บุตรหลานผู้ดูแลบิดา มารดา ได้สิทธิ์จองเป็นอันดับแรก อัตราค่าเช่าพักอาศัย 1 บาทต่อตารางวาต่อปี รวมค่าธรรมเนียมประมาณ 24 บาทต่อตารางวา ระยะเวลาเช่าระยะเวลา 30 ปี ต่ออายุได้อีก 30 ปี รวมเป็น 60 ปี โดยมอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสำหรับการสร้างโครงการกับผู้ประกอบการวงเงิน 4,000 ล้านบาท และร่วมปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยเพื่อซื้อบ้านคนชราเพื่ออยู่อาศัย นอกจากนี้ เห็นชอบให้ตั้งบรรษัทประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการขอสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในระบบรองรับการดูแลผู้สูงอายุ
3.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … เนื่องจากไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ และจะกลายเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์มีผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากรในปี 2568 จึงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการจัดสรรสวัสดิการ เนื่องจากผู้มีรายได้สูงจะซื้อกองทุน LTF, RMF แรงงานระดับกลางบางส่วนที่เป็นลูกจ้าง พนักงานบางส่วนไม่มีกองทุนดูแลเพื่อออมเงินระยะยาว ส่วนแรงงานระดับล่างมี กอช.ดูแล จึงต้องตั้งกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) มาปิดช่องดังกล่าวให้ครอบคลุมหมดทุกกลุ่ม ทั้งส่วนราชการ องค์การมหาชน บริษัทรับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักรัพย์ หรือกิจการอื่น คาดว่าจะมีแรงานเข้าเป็นสมาชิก 11.37 ล้านคน ส่งเงินสมทบเข้า กบช. ซึ่งจะทำให้มีรายได้เงินออมก่อนเกษียณอายุทำงาน 60 ปี ประมาณร้อยละ 50 จากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 19 ของแรงงานทั้งหมด
ร่าง พ.ร.บ.กบช. จึงบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 รายขึ้นไปตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง หรือลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ โดยกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบเงินเข้ากองทุนฝ่ายร้อยละ 3 ใน 3 ปีแรก และเพิ่มร้อยละ 5 และนำส่งเพิ่มร้อยละ 7 ในช่วงเวลาต่อไป และในปีที่ 4 กำหนดให้องค์กรที่มีแรงงาน 10 คนต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า องค์กร นิติบุคคลมีแรงงาน 1 คน ต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปัจจุนับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 424 กองทุน สมาชิก 3 ล้านคน เงินกองทุน 16,000 ล้านบาท คาดว่าสมาชิกจะเพิ่มเป็น 12 ล้านคนในอนาคต เงินกองทุนประมาณ 68,000 ล้านบาท เริ่มมีผลบังคับใช้ปี 2561 พร้อมกับช่วงการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อมีภาระการเสียภาษีน้อยลงจะได้นำมาสมทบเป็นเงินออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณอายุการทำงาน และหากลูกจ้างรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายสมทบฝ่ายเดียว เพราะถือเป็นลูกจ้างที่มีรายได้น้อย เมื่อเกษียณอายุการทำงาน 60 ปี เปิดให้เลือกว่ารับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ 20 ปี เมื่อเกษียณอายุการทำงานกำหนดให้สมาชิกเลือกรับเงินแบบบำเหน็จ หรือหากรับบำนาญใช้เวลา 20 ปี
นอจากจากนี้ ยังเห็นชอบตั้งคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประสานกับกองทุนทุกประเภทให้ทำงานสอดคล้องกับทั้งกองทุนประกันสังคม กอช. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนต่าง ๆ ที่รัฐบาลดูแลด้านสวัสดิการ
- การดำเนินโครงการสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) มอบหมายให้ธนาคารออมสินและ ธอส.ปล่อยสินเชื่อกับสำหรับผู้สูงอายุเกินกว่า 60 ปี โดยนำบ้านปลอดภาระหนี้มาขอสินเชื่อธนาคาร จากนั้นธนาคารจะให้เงินกับผู้กู้เป็นรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต รวมถึงผู้กู้เงินดังกล่าวยังอาศัยในบ้าน รวมทั้งสามีภรรยา หากใครเสียชีวิตคู่สมรสยังอาศัยต่อไปได้จนกว่าจะเสียชีวิต และหากเสียชีวิตแล้วมูลค่าสินทรัพย์มากกว่าเงินกู้ ส่วนต่างจะตกเป็นของทายาท และเปิดโอกาสให้ทายาทมาไถ่ถอนบ้านคืนได้ แต่หากไม่มีทายาททรัพย์สินจะตกเป็นของธนาคารที่นำไปขายทอดตลาด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุ.-สำนักข่าวไทย