สธ.17 เม.ย.-สธ.เร่งเยียวยา-ดูแลจิตใจเจ้าหน้าที่รพ.สต.ถูกทำร้ายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ที่จ.บึงกาฬ พร้อมกำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกเวลาทำการ สั่งติดกล้องวงจรปิดเพิ่มในจุดเสี่ยง ขอความร่วมมือประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรขอความช่วยเหลือสายด่วน1669 ฟรีตลอด24ชั่วโมง
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ถึงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดถูกคนร้ายทำทีมารับบริการทำร้ายร่างกายและพยายามล่วงละเมิดทางเพศ เหตุเกิดเมื่อเวลา 21.30 น.คืนวันที่ 15 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา โดยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทระทรวงสาธารณสุข ได้แสดงความห่วงใย กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬเยียวยาและดูแลด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำเรื่องดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการ การวางระบบบริหารความเสี่ยง การพร้อมให้ความช่วยเหลือที่ห้องฉุกเฉินในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ
“กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยบริการหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศที่พร้อมให้การดูแลด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนผู้เดือดร้อนตลอด 24 ชั่วโมง แต่จากการที่เจ้าหน้าที่ถูกกระทำครั้งนี้ กระทรวงคงต้องปรับระบบบริการในสถานบริการโดยเฉพาะ รพ.สต.เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารทุกคนทราบเรื่องรู้สึกเสียใจ และจะให้การช่วยเหลือเยียวยาเต็มที่ ส่วนเรื่องคดีมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ทั้งนี้เบื้องต้นได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเข้มงวดมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับผู้ป่วยที่มารับบริการ ให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง กรณี มีผู้มาขอรับบริการในยามวิกาลให้พิจารณาตามความเหมาะสมคำนึงถึงความปลอดภัยและขอให้ลงมาช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นทีม
ด้าน นพ.วิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ได้สั่งเพิ่มมาตรการความปลอดภัยกรณีมีผู้ป่วยมาขอรับบริการฉุกเฉิน นอกเวลาทำการ ดังนี้ 1.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับบริการหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24ชั่วโมง 2.ถ้าจำเป็นต้องลงมาให้บริการผู้ป่วยในยามวิกาลต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่คนอื่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ชายให้ลงมาช่วย และต้องแจ้งผอ.รพสต.ด้วย 3.ให้ผอ.รพสต. และสาธารณสุขอำเภอประสานกับสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ ในการให้มาตั้งตู้เช็คเหตุการณ์หน้ารพ.สต. 4.ห้ามเจ้าหน้าที่รพ.สต.ที่เป็นผู้หญิงลงมาให้บริการดูแลรักษานอกเวลาเวรโดยเฉพาะยามวิกาล
นอกจากนี้กำชับให้สาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการ รพ.สต. ทุกแห่งช่วยดูแลและสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย นอกจากนี้จะหารือกับสาธารณสุขอำเภอและ ผอ.รพ.สต.อีกครั้งเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ในการจัดระบบที่จะดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในรพ.สต.ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นต่อไป อาทิ การจัดเจ้าหน้าที่ผู้ชายอยู่เวรนอกเวลาทำการ การติดตั้งกล้องวงจรปิด การจัดให้มีเวรรักษาความปลอดภัยที่เป็นชายนอนเฝ้าสถานที่เป็นประจำ การออกนอกสถานที่ เพื่อให้บริการยามวิกาล และออกชุมชน และที่สำคัญคือการสร้างเครือข่าย อสม.เข้มแข็งเครือข่ายผู้นำชุมชนที่ดี เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มี รพ.สต.ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง เฉลี่ยเจ้าหน้าที่แห่งละ 3-5 คน .-สำนักข่าวไทย