นนทบุรี 14 เม.ย. – กระทรวงพาณิชย์ขานรับนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง 18 เม.ย. อุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย “เวท์เอเวอร์”
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด มีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชนโดยการลอยแพนักท่องเที่ยวชาวไทยกลางสนามบินสุวรรณภูมิจนไม่สามารถเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นกังวลและต้องการให้มีระบบการตรวจสอบล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทำนองเดียวกับบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด อีก จึงได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งหามาตรการควบคุม อุดช่องโหว่-ปิดช่องว่าง ไม่ให้บริษัทที่จดทะเบียนนำธุรกิจมาหาประโยชน์โดยมิชอบหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อไป และเป็นเจ้าภาพหารือเกี่ยวกับการบูรณาการข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ การขออนุญาตประกอบธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานให้มีการเชื่อมโยงและสามารถตรวจสอบข้อมูล เพื่อเฝ้าระวังและตัดวงจรมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องกัน ป้องปราม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าววันที่ 18 เมษายนนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมการปกครอง กรมการท่องเที่ยว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นต้น เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลการจดทะเบียน การขออนุญาตประกอบธุรกิจที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบให้เป็นหนึ่งเดียวและสามารถตรวจสอบข้อมูลง่าย โดยเฉพาะข้อมูลและประวัติของผู้กระทำความผิดที่มาสวมรอยขอจดทะเบียนนิติบุคคลหรือขออนุญาตประกอบธุรกิจประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรมิจฉาชีพในคราบธุรกิจที่จะเข้ามาหากินและหลอกลวงประชาชน ตลอดจนการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจไทย นอกจากนี้ จะร่วมกันกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้น ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดฐานหลอกลวงประชาชนหรือฐานความผิดอื่น ๆ เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวซ้ำรอยขึ้นอีก
ทั้งนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจทุกระดับ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบธุรกิจมีความหลากหลายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอาจทำให้ผู้ซื้อ ผู้ขายหรือการติดต่อธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ยากแก่การตรวจสอบ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกินจริงอาจทำให้เกิดการหลอกลวงและเกิดความเสียหายวงกว้าง ดังนั้น การตัดวงจรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงาน และทุกฝ่ายจะสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย