แหลมฉบัง/คุนหมิง, 20 เม.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (19 เม.ย.) ขบวน “รถไฟผลไม้” บรรทุกทุเรียนและมังคุดของไทย จำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้เดินทางถึงนครคุนหมิง รถไฟขบวนนี้มีต้นทางจากแหลมฉบัง ท่าเรือแห่งสำคัญของไทย และวิ่งถึงจุดหมายปลายทางในจีนโดยผ่าน “ทางรถไฟจีน-ลาว” ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็น “ทางด่วน” ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว
อรทัย เอื้อตระกูล วัย 67 ปี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าเมื่อก่อนทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกสู่จีนทางถนนและทางทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เพราะหลายปัจจัยอย่างสภาพอากาศเลวร้าย ทำให้บางครั้งใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน แต่ปัจจุบันทุเรียนไทยถูกขนส่งถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ด้วยอานิสงส์จากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งอรทัยแสดงความหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เพลิดเพลินกับทุเรียนสดใหม่และสุกอร่อยเหมือนกับชาวไทยเพิ่มขึ้น
นที ชวนสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่าปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญที่สุดของไทย และหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้ชิมทุเรียนรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยับขยายตลาดทุเรียนไทย
อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทยระบุว่าจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.06 แสนล้านบาท)
บริษัท ไทยแลนด์ รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand Royal Farm Group) ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นเวลานานมากกว่า 16 ปีแล้ว
วีริศา วนนุรักศ์สกุล ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่าความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด และรายได้จากงานบรรจุหีบห่อแบบจ้างงานชั่วคราวในช่วงฤดูส่งออกกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนท้องถิ่นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการส่งออกทุเรียนไทย และบรรเทาปัญหากำลังการขนส่งไม่เพียงพอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมถึงการขนส่งทางถนนและทางทะเลที่ไม่มีความแน่นอน
กนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ได้ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของไทย โดยปริมาณการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 500-600 ทีอียู (TEU: หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ในปี 2019 เป็น 2,000 ทีอียูในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ทีอียูในปี 2023
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://xhnewsapi.xinhuaxmt.com/share/news_pc?id=814100139896832&showType=3002&utdId=9b67257fb0af43279cd543e182cc3b7e&version=3.1.3&projectSource=1&clientMarket=huawei
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/353034_20230421
ขอบคุณภาพจาก Xinhua