เนคเทค 8 ส.ค. 63 – เนคเทค ยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำด้วยเทคโนโลยี Aqua-IoT ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาระบบตรวจสอบสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพด้วยเทคโนโลยี IoT ในพื้นที่ภาคตะวันออก (Aqua-IoT ภาคตะวันออก) โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ขยายผลใช้งานจริง พร้อมติดตามผลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพื่อยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำ นำร่องกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า เนคเทค-สวทช. ได้ดำเนินงานโครงการระบบและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับสัตว์น้ำ Giga Impact Initiative (GII) ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ขยายผลสู่โครงการยกระดับผู้ประกอบการสัตว์น้ำด้วยระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพบ่อเพาะเลี้ยงทั้งทางกายภาพเคมีและชีวภาพด้วยเทคโนโลยี IoT (Aqua-IoT ) เป็นระบบที่จะช่วยในการเฝ้าระวัง ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที และวางแผนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อความสูญเสียที่จากสภาวะต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงได้ โดยเฉพาะในการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและปลากระพง สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ประกอบไปด้วย 4 เทคโนโลยี ได้แก่ 1.ระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน ค่าออกซิเจน (DO) ที่ละลายในน้ำแบบทันท่วงที
รวมทั้งสถานีวัดอากาศ (Weather Station) ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์เซนเซอร์และอุปกรณ์ชุดรับส่งสัญญาณค่าการตรวจออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO) ค่าอุณหภูมิของน้ำในบ่อเลี้ยง (Temp) และค่าความเป็นกรดด่างของน้ำในบ่อเลี้ยง (pH) ส่งข้อมูลขึ้น cloud ผ่านอุปกรณ์ IoT ตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจากการที่ระดับที่ออกซิเจนต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม รวมถึงมีสถานีวัดอากาศที่ใช้วัดความเร็วลม ทิศทางลม ปริมาณน้ำฝน และปริมาณแสง นำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งผ่านทางแอปพลิเคชั่นทุก 5 นาที ซึ่งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำที่เนคเทคพัฒนาขึ้นนี้ สามารถทำความสะอาดหัววัดออกซิเจนแบบอัตโนมัติ โดยตั้งเวลาให้ทำความสะอาดไว้วันละ 1 ครั้ง ซึ่งจะแตกต่างจากอุปกรณ์ตรวจวัดทั่วไปในท้องตลาดซึ่งจะต้องมีผู้ดูแลทำความสะอาดตัวกรองทุก ๆ 2-3 วัน
ส่วนระบบกล้องตรวจจุลชีวขนาดเล็กในน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการตรวจสภาพทางกายภาพของสัตว์น้ำหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็กที่ตาเปล่ามองเห็นไม่ชัดหรือมองไม่เห็น ทำให้สังเกตเห็นความปกติหรือผิดปกติต่าง ๆ ของสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็กได้ รวมไปถึงปรสิตที่อาจเกาะอยู่ภายนอกตัวสัตว์น้ำ หรือจุลชีพขนาดเล็กในบ่อเพาะเลี้ยงได้ โดยสามารถแสดงผลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านการเชื่อมต่อ USB ขณะที่ระบบอ่านค่าสารเคมีแทนการดูด้วยตาสำหรับตรวจคุณภาพน้ำบ่อเลี้ยง จะตรวจสอบคุณภาพของสารเคมีในน้ำแทนการอ่านค่าสีด้วยตาเปล่าบนกระดาษเทียบสี เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ทั้งก่อนและระหว่างการเพาะเลี้ยง รวมไปถึงน้ำที่จะระบายทิ้ง เพื่อจัดการดูแล แก้ไข อย่างถูกต้อง แม่นยำ บันทึกข้อมูลและดูข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้
และระบบตรวจรูปแบบของจุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการตรวจดูสภาวะทางชีวภาพของบ่อเพาะเลี้ยง โดยการตรวจดูรูปแบบการเติบโตของจุลินทรีย์ในบ่อเลี้ยงหรือโปรไบโอติกในสภาวะอาหารเลี้ยงเชื้อที่จำลองสภาวะบ่อเลี้ยงในแบบต่าง ๆ สามารถติดตามการเจริญเติบโตของจุลชีพแบบต่อเนื่อง
นอกจากนี้ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมพัฒนา ชุดตรวจพร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพของชุดตรวจโรคเพื่อหาเชื้อ EMS, WSSV และ EnHP ที่ก่อโรคในกุ้ง และเชื้อ Streptococcosis ที่ก่อโรคในปลานิลร่วมกับการใช้ตัวตรวจจับดีเอ็นเอที่ติดฉลากอนุภาคทองคำนาโนและ/หรือแลมป์เปลี่ยนสีและส่งมอบให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เทคโนโลยี Aqua-IoT ได้ติดตั้ง และใช้งานพื้นที่จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จำนวน 15 ฟาร์ม ที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการโครงการ อาทิ ลูกกระต่ายฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งแบบครบวงจร เจริญดีฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ฟาร์มระบบลอย-สมัยใหม่ โดย Smart Farmer และมานพฟาร์ม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งตามวิถีธรรมชาติ .-สำนักข่าวไทย