bagged carrots

ชี้แครอทปนเปื้อนแบคทีเรียทำคนในสหรัฐตาย 1 ป่วย 39

วอชิงตัน 18 พ.ย.- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คน ล้มป่วย 39 คน จากการติดเชื้อแบคทีเรียอี.โคไลที่ปนเปื้อนในแครอทสดที่จำหน่ายตามร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ใน 18 รัฐทั่วประเทศ ซีดีซีออกแถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นว่า เป็นการติดเชื้อในแครอทและเบบี้แครอทบรรจุถุงของบริษัทกริมม์เวย์ฟาร์มส์ (Grimmway Farms) ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น วอลมาร์ต,   ทาร์เก็ต, โครเกอร์, โฮลฟูดส์ โดยจำหน่ายในหลากหลายชื่อ ขณะนี้แครอทเหล่านี้น่าจะไม่ได้อยู่บนชั้นวางจำหน่ายแล้ว แต่อาจยังตกค้างอยู่ตามบ้านเรือน ขอให้ผู้บริโภคนำไปทิ้งเสีย ด้านสำนักงานอาหารและยาสหรัฐหรือเอฟดีเอ (FDA) แถลงเมื่อวันเสาร์ว่า กริมม์เวย์ฟาร์มส์ได้ประกาศเรียกคืนสินค้าโดยสมัครใจแล้ว เป็นแครอทรุ่นที่ระบุวันบริโภคไว้ระหว่างวันที่ 14 สิงหาคมถึง 23 ตุลาคม และเบเบี้แครอทรุ่นที่ระบุวันบริโภคไว้ระหว่างวันที่ 11 กันยายนถึง 12 พฤศจิกายน สินค้าบางส่วนถูกส่งไปจำหน่ายในแคนาดาและเครือรัฐเปอร์โตรีโกของสหรัฐด้วย กริมม์เวย์ฟาร์มส์ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเบเกอร์สฟิลด์ รัฐแคลิฟอร์เนียเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ในวันเดียวกันว่า กำลังตรวจสอบกระบวนการปลูก เก็บเกี่ยว และจัดเก็บสินค้า และกำลังให้ความร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเรื่องนี้.-814.-สำนักข่าวไทย  

McDonald's Quarter Pounder

แมคโดนัลด์เลิกขายชั่วคราวเมนูที่คาดว่าทำคนป่วย

ชิคาโก 24 ต.ค.- แมคโดนัลด์ เครือฟาสต์ฟูดรายใหญ่ของโลกได้ระงับการจำหน่ายเมนูเบอร์เกอร์ ที่คาดว่าทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และล้มป่วยอีกเกือบ 50 คน ออกจากสาขาในสหรัฐที่พบว่าปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียอีโคไล แมคโดนัลด์ได้ระงับการจำหน่ายเมนูควอเตอร์ พาวน์เดอร์ (Quarter Pounder) เป็นแฮมเบอร์เกอร์ที่มีขนาดชิ้นเนื้อใหญ่กว่าเบอร์เกอร์ปกติ 2.5 เท่า ออกจากสาขาราว 1 ใน 5 จากทั้งหมด 14,000 สาขาทั่วสหรัฐ โดยระงับในสาขาที่อยู่ในรัฐโคโรลาโด แคนซัส ยูทาห์ ไวโอมิง และบางสาขาที่อยู่ในไอดาโอ ไอโอวา มิสซูรี มอนแทนา เนแบรสกา เนวาดา นิวเม็กซิโก และโอคลาโฮมา ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐหรือซีดีซี (CDC) รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คนและล้มป่วย 59 คน ในรัฐทางตะวันตกและมิดเวสต์หรือตะวันตกตอนกลาง ในจำนวนนี้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 10 คน คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเติม ซีดีซีกำลังตรวจสอบว่า เชื้ออีโคไลปนเปื้อนอยู่ในวัตถุดิบชนิดใด โดยการตรวจสอบมุ่งเน้นไปที่หัวหอมใหญ่ซอย และเนื้อที่ใช้กับเบอร์เกอร์ยักษ์  […]

วิกฤตเชื้อดื้อยาอาจทำ 40 ล้านคนตายใน 26 ปี

ลอนดอน 17 ก.ย.- ผลการศึกษาใหม่คาดการณ์ว่า วิกฤตเชื้อโรคที่ดื้อยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกว่าซูเปอร์บั๊ก (superbug) อาจทำให้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตสะสมมากกว่า 39 ล้านคนตั้งแต่ขณะนี้ไปจนถึงในปี 2593 ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารแลนเซ็ต (Lancet) ฉบับวันที่ 16 กันยายนคาดการณ์ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคที่ต้านทานต่อยาที่ใช้รักษาอาจเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ภายในปี 2593 การดื้อยาเกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคอย่างแบคทีเรียและเชื้อราพัฒนาตัวเองให้สามารถต้านทานยาที่เคยใช้ฆ่าเชื้อได้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัญหานี้เป็นหนึ่งในภัยคุกคามสาธารณสุขโลกอันดับต้น ๆ อันเป็นผลจากการใช้ยาต้านจุลชีพในคน สัตว์ และพืช อย่างไม่ถูกต้องและมากเกินไป ผลการศึกษาชี้ว่า ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เอเชียใต้ ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา เพราะส่วนใหญ่ขาดแคลนบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ดังนั้นหนทางที่จะลดยอดผู้เสียชีวิตจากซูเปอร์บั๊ก คือ การปรับปรุงการเข้าบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การพัฒนายาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นและวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดและรักษาการติดเชื้อ.-814.-สำนักข่าวไทย   

ทีมนักวิจัยจีนพบกลไกเบื้องหลัง “แบคทีเรียก่อโรคอ้วน”

ปักกิ่ง 31 ก.ค.- ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยชาวจีนพบว่า สาเหตุที่บางคนกินจุแต่ยังดูผอมเพรียว ส่วนบางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายและมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนโดยธรรมชาติ อาจมาจากแบคทีเรียเมกะโมนาส (Megamonas) ซึ่งเป็นวงศ์แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอ้วน สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างหนังสือพิมพ์ไชน่าไซแอนซ์แอนด์เทคโนโลยีเดลีว่า ทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลรุ่ยจินในเครือคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ (BGI) และสถาบันวิจัยการแพทย์อัจฉริยะสังกัดสถาบันบีจีไอ ได้ศึกษาสารพันธุกรรมทั้งหมดในตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วน 631 คน และกลุ่มควบคุมที่มีน้ำหนักปกติ 374 คน พบแบคทีเรียเมกะโมนาสเป็นส่วนใหญ่ในตัวอย่างจากบุคคลที่เป็นโรคอ้วน เพื่อเปิดเผยกลไกเบื้องหลังของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ทีมวิจัยได้ทำการทดลองเพิ่มเติมโดยใช้ต้นแบบหลายชนิด เช่น หนูทดลองปลอดเชื้อจําเพาะ (SPF) หนูปลอดเชื้อโรค (GF) และออร์แกนอยด์ของลำไส้เล็ก โดยใช้ M. rupellensis ซึ่งเป็นตัวแทนสายพันธุ์ของแบคทีเรียเมกะโมนาส มาใช้เป็นอาหารทดลอง ปรากฏว่า M. rupellensis ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อน้ำหนักตัวของหนูทดลองปลอดเชื้อจําเพาะที่ได้รับอาหารปกติ แต่กระตุ้นให้หนูทดลองชนิดเดียวกันที่ได้รับอาหารไขมันสูง มีน้ำหนักและสะสมไขมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนูปลอดเชื้อโรคที่ได้รับอาหารไขมันสูง M. rupellensis เพิ่มน้ำหนักตัวของหนูอย่างมีนัยสำคัญ และส่งเสริมการขนส่งกรดไขมันในลำไส้และการดูดซึมไขมันอย่างชัดเจน ทีมนักวิจัยได้พิสูจน์ศักยภาพของ M. rupellensis ในการย่อยสลายอิโนซิทอล (Inositol) ซึ่งเป็นสารที่สามารถยับยั้งประสิทธิภาพในการขนส่งกรดไขมัน โดยทดลองทั้งในหลอดทดลองและในร่างกาย และคาดว่า การที่ M. […]

นักท่องเที่ยวเล่นน้ำทะเลในแอลเอไม่สนคำเตือนแบคทีเรีย

ลอสแอนเจลิส 11 ก.ค.- ผู้ที่มาเที่ยวชายหาดในเทศมณฑลลอสแอนเจลิสของสหรัฐ พากันเล่นน้ำทะเล โดยไม่สนใจหรือไม่สังเกตเห็นป้ายเตือน “ห้ามเล่นน้ำ” ทั้งที่ทางการเตือนว่าชายหาด 14 แห่งมีระดับเชื้อแบคทีเรียสูงเกินมาตรฐาน ทางการท้องถิ่นได้ปักป้ายเตือน “ห้ามเล่นน้ำ” ที่ชายหาดยอดนิยมหลายแห่งของเทศมณฑลลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ รวมถึงชายหาดชื่อดังอย่างมาลิบู และซานตาโมนิกา ในขณะที่สภาพอากาศทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียกำลังร้อนจัดเพราะอุณหภูมิสูง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากรัฐอื่นเผยว่า ไม่ได้สังเกตเห็นป้ายเตือน และให้ลูก ๆ ลงไปเล่นน้ำตามปกติ ขณะที่นักท่องเที่ยวในพื้นที่กล่าวว่า เล่นน้ำที่ชายหาดซานตาโมนิกามาทั้งชีวิต ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สำนักงานสาธารณสุขเทศมณฑลลอสแอนเจลิสออกคำเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ การโต้คลื่น และการเล่นน้ำทะเล เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการป่วยได้ เนื่องจากน้ำทะเลมีระดับเชื้อแบคทีเรียสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยอาจเป็นผลจากน้ำฝนที่ตกหนัก และไหลมาปนเปื้อนน้ำทะเล.-816(814).-สำนักข่าวไทย

ผู้ป่วยติดเชื้อสเตรปโตคอกคัสในญี่ปุ่น พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

ญี่ปุ่นสรุปจำนวนผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ที่มีชื่อย่อว่า STSS ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 2 มิ.ย. 67 จำนวน 977 คน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุด และเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ญี่ปุ่นพบผู้ป่วย “แบคทีเรียกินเนื้อ” มากเป็นประวัติการณ์

โตเกียว 11 มิ.ย.- ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส หรือทีเอสเอส (TSS) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีที่เคยมีผู้ป่วยมากที่สุด สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติของญี่ปุ่นแจ้งว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบผู้ป่วยแล้ว 977 คน มากกว่าปี 2566 ทั้งปีที่พบทั้งหมด 941 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มการรายงานอย่างเป็นทางการในปี 2542 โรคทีเอสเอสเกิดจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส ไพโอจีน (streptococcus pyogenes) มักทำให้มีอาการเจ็บคอ แต่บางครั้งอาจทำให้เนื้อเยื่อแขนขาเน่าตายและอวัยวะหลายส่วนล้มเหลว จังหวัดโตเกียวเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ 145 คน และพบการติดเชื้อสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและแพร่ง่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคคันโตที่อยู่รอบโตเกียว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่มหาวิทยาลัยแพทย์สตรีโตเกียวเตือนว่า บาดแผลที่เท้าเป็นจุดที่เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสมากเป็นพิเศษ ขณะที่บาดแผลเล็ก ๆ  อย่างแผลพุพอง และเท้าของนักกีฬาก็เป็นจุดเสี่ยงเชื้อติดกัน เชื้ออาจใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงในการทำให้ผู้ป่วยสูงวัยเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อ หากมีสัญญาณอันตรายคือ ไข้สูงร่วมกับอาการเพ้อ หรือบาดแผลบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้รีบพบแพทย์โดยทันที.-814.-สำนักข่าวไทย

เชื้อแบคทีเรียอีโคไลทำนายผลฟุตบอลยูโร

นักวิทยาศาสตร์ที่เยอรมนีกำลังใช้เชื้อแบคทีเรียอีโคไลช่วยทำนายผลการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติเยอรมนี ในศึกฟุตบอลยูโร 2024 รอบสุดท้ายที่เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพกลางเดือนนี้

มองโกเลียพบผู้ป่วยกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองหลังกิน “มาร์มอต”

อูลานบาตอร์ 10 ส.ค. – มองโกเลียพบผู้ป่วยกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง เป็นชายที่มีประวัติรับประทานเนื้อมาร์มอต ซึ่งเป็นกระรอกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า ศูนย์โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนแห่งชาติมองโกเลียยืนยันเมื่อวันอังคารว่า พบผู้ป่วยกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) จำนวน 1 ราย ในกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย ชายผู้ติดเชื้อมีประวัติรับประทานเนื้อมาร์มอตเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะนี้เขากับผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 5 คนกำลังแยกกักตัวและรับการรักษา ศูนย์โรคติดต่อฯ เผยว่า 17 จังหวัดจากทั้งหมด 21 จังหวัดของมองโกเลีย ยังมีความเสี่ยงต่อกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ขอให้ประชาชนงดการล่ามาร์มอตหรือรับประทานเนื้อมาร์มอต ทั้งนี้การล่ามาร์มอตถือว่าผิดกฎหมายในมองโกเลีย แต่ประชาชนส่วนหนึ่งยังคงรับประทานอยู่ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคจากแบคทีเรีย แพร่โดยหมัดที่อาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะป่าชนิดต่างๆ รวมถึงมาร์มอต โดยสามารถคร่าชีวิตผู้ใหญ่ภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย

อาร์เจนตินารู้โรคปอดอักเสบที่ทำคนตายแล้ว

บัวโนสไอเรส 4 ก.ย.- เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาร์เจนตินาระบุว่า ผู้ป่วย 4 คนในคลินิกเดียวกันที่เสียชีวิตในจากโรคปอดอักเสบเป็นการเสียชีวิตจากโรคลีเจียนแนร์ ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอดแบบพบไม่บ่อยนัก นางคาร์ลา วิชชอตตี รัฐมนตรีสาธารณสุขอาร์เจนตินาเผยกับสื่อเมื่อวันเสาร์ว่า โรคลีเจียนแนร์คือสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้ป่วยทั้ง 4 คน ซึ่งมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว และหายใจลำบาก ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยคลินิกเดียวกันในเมืองซานมิเกลเดตูกูมัน ทางเหนือของกรุงบัวโนสไอเรส เป็นการเสียชีวิตตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันเสาร์ ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแจ้งว่า พบผู้ป่วยอีก 7 คน ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยคลินิกเดียวกัน และเกือบทุกคนใกล้ชิดกับบุคลากรของคลินิก ผู้ป่วย 4 คนยังอยู่ในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้ 3 คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยอีก 3 คนรักษาตัวที่บ้าน ทั้งนี้นับตั้งแต่พบผู้ป่วยอักเสบหลายคนในเมืองซานมิเกลเดตูกูมัน แพทย์ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสฮันตาที่พบในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ แต่ไม่ใช่ จึงได้ส่งตัวอย่างไปตรวจที่สถาบันในกรุงบัวโนไอเนส และพบว่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นโรคลีเจียนแนร์แบบปอดอักเสบ โรคลีเจียนแนร์ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมทหารผ่านศึกอเมริกันที่เมืองฟิลาเดลเฟียของสหรัฐในปี 2519 ถูกโยงว่าน่าจะเกิดจากน้ำปนเปื้อนหรือระบบเครื่องปรับอากาศไม่สะอาด ครั้งนั้นมีผู้ป่วย 182 คน เสียชีวิต 29 คน.-สำนักข่าวไทย

แพทย์เตือนกินหมึกช็อต ระวังเชื้อโรค ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ แนะควรปรุงสุก

11 ก.พ. – กระแสการกินหมึกสด ๆ หรือ “หมึกช็อต” กำลังฮิต ขณะที่แพทย์เตือนให้ระวังเชื้อโรคทั้งแบคทีเรีย และเชื้ออหิวาต์เทียม ทำให้ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ แนะควรปรุงสุกก่อนรับประทาน พญ.กอบกาญจน์ งามศรีโสภณ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ระบุปกติอาหารทะเล นอกจากหมึกแล้ว กุ้ง ปู หรือหอย ที่มันดิบๆ มักจะเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ เชื้อที่พบบ่อยคือเชื้อแบคทีเรีย หรือพบในอาหารทะเล คือเชื้ออหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus) เชื้อเหล่านี้มักทำให้ท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลว หรือมีไข้หนาวสั่นได้ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเร็ว หลังกิน 12-24 ชั่วโมง แนะหากจะรับประทานอาหารทะเล ควรผ่านความร้อนทำให้สุกก่อน เพราะเชื้อเหล่านี้จะโตได้ดีในอากาศที่เย็น หรือแม้กระทั่งกรดมะนาว ก็ไม่ได้ทำให้เชื้อโรคตาย ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการคีบอาหาร ประกอบอาหาร และอุปกรณ์ที่ใช้รับประทาน ควรแยกอุปกรณ์ที่ชัดเจน จะช่วยป้องกันได้. – สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียเพาะยุงมีแบคทีเรียสกัดไข้เลือดออก

ยอกยาการ์ตา 1 พ.ย.- คณะนักวิจัยในอินโดนีเซียพบวิธีต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ ด้วยการเพาะพันธุ์ยุงให้มีเชื้อแบคทีเรียที่สามารถสกัดไม่ให้เชื้อไวรัสเดงกี่เติบโตในตัวยุงได้ ชาวอินโดนีเซียที่ร่วมในโครงการยุงโลก ซึ่งเป็นโครงการไม่แสวงหากำไรเพื่อปกป้องประชาคมโลกจากโรคที่เกิดจากยุง เผยว่า หลักการคือการเพาะพันธุ์ยุงที่ดี ด้วยการนำยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่มาผสมพันธุ์กับยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย จนได้ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวที่จะไม่ทำให้คนถูกกัดติดเชื้อ ปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียพบอยู่ตามธรรมชาติในแมลงชนิดต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 60 เช่น ยุง แมลงวันผลไม้ ผีเสื้อ แต่ไม่เคยพบในยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่ มหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดาในอินโดนีเซียที่ร่วมในโครงการยุงโลกได้นำยุงมีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียที่เพาะในห้องทดลอง ไปปล่อยในบางพื้นที่ของเมืองยอกยาการ์ตาที่มีโรคไข้เลือดออกเดงกี่ระบาด โดยทำมาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่ลดลงมากถึงร้อยละ 77 และจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลดลงมากถึงร้อยละ 86 ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ช่วงหลายสิบปีมานี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่เพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีประชากรโลกถึงครึ่งหนึ่งเสี่ยงป่วยด้วยโรคนี้ โดยมีรายงานพบผู้ป่วยปีละ 100-400 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย

1 2 3
...