ยอกยาการ์ตา 1 พ.ย.- คณะนักวิจัยในอินโดนีเซียพบวิธีต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกเดงกี่ ด้วยการเพาะพันธุ์ยุงให้มีเชื้อแบคทีเรียที่สามารถสกัดไม่ให้เชื้อไวรัสเดงกี่เติบโตในตัวยุงได้
ชาวอินโดนีเซียที่ร่วมในโครงการยุงโลก ซึ่งเป็นโครงการไม่แสวงหากำไรเพื่อปกป้องประชาคมโลกจากโรคที่เกิดจากยุง เผยว่า หลักการคือการเพาะพันธุ์ยุงที่ดี ด้วยการนำยุงที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่มาผสมพันธุ์กับยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกีย จนได้ยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวที่จะไม่ทำให้คนถูกกัดติดเชื้อ ปกติแล้วเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียพบอยู่ตามธรรมชาติในแมลงชนิดต่าง ๆ ประมาณร้อยละ 60 เช่น ยุง แมลงวันผลไม้ ผีเสื้อ แต่ไม่เคยพบในยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี่
มหาวิทยาลัยโมนาชในออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดาในอินโดนีเซียที่ร่วมในโครงการยุงโลกได้นำยุงมีเชื้อแบคทีเรียโวลบาเกียที่เพาะในห้องทดลอง ไปปล่อยในบางพื้นที่ของเมืองยอกยาการ์ตาที่มีโรคไข้เลือดออกเดงกี่ระบาด โดยทำมาตั้งแต่ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่ลดลงมากถึงร้อยละ 77 และจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลดลงมากถึงร้อยละ 86
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ช่วงหลายสิบปีมานี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี่เพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีประชากรโลกถึงครึ่งหนึ่งเสี่ยงป่วยด้วยโรคนี้ โดยมีรายงานพบผู้ป่วยปีละ 100-400 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย