ปักกิ่ง 31 ก.ค.- ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยชาวจีนพบว่า สาเหตุที่บางคนกินจุแต่ยังดูผอมเพรียว ส่วนบางคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่ายและมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนโดยธรรมชาติ อาจมาจากแบคทีเรียเมกะโมนาส (Megamonas) ซึ่งเป็นวงศ์แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอ้วน
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างหนังสือพิมพ์ไชน่าไซแอนซ์แอนด์เทคโนโลยีเดลีว่า ทีมนักวิจัยจากโรงพยาบาลรุ่ยจินในเครือคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง สถาบันวิจัยจีโนมิกส์ (BGI) และสถาบันวิจัยการแพทย์อัจฉริยะสังกัดสถาบันบีจีไอ ได้ศึกษาสารพันธุกรรมทั้งหมดในตัวอย่างอุจจาระของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคอ้วน 631 คน และกลุ่มควบคุมที่มีน้ำหนักปกติ 374 คน พบแบคทีเรียเมกะโมนาสเป็นส่วนใหญ่ในตัวอย่างจากบุคคลที่เป็นโรคอ้วน
เพื่อเปิดเผยกลไกเบื้องหลังของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ทีมวิจัยได้ทำการทดลองเพิ่มเติมโดยใช้ต้นแบบหลายชนิด เช่น หนูทดลองปลอดเชื้อจําเพาะ (SPF) หนูปลอดเชื้อโรค (GF) และออร์แกนอยด์ของลำไส้เล็ก โดยใช้ M. rupellensis ซึ่งเป็นตัวแทนสายพันธุ์ของแบคทีเรียเมกะโมนาส มาใช้เป็นอาหารทดลอง ปรากฏว่า M. rupellensis ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อน้ำหนักตัวของหนูทดลองปลอดเชื้อจําเพาะที่ได้รับอาหารปกติ แต่กระตุ้นให้หนูทดลองชนิดเดียวกันที่ได้รับอาหารไขมันสูง มีน้ำหนักและสะสมไขมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนูปลอดเชื้อโรคที่ได้รับอาหารไขมันสูง M. rupellensis เพิ่มน้ำหนักตัวของหนูอย่างมีนัยสำคัญ และส่งเสริมการขนส่งกรดไขมันในลำไส้และการดูดซึมไขมันอย่างชัดเจน
ทีมนักวิจัยได้พิสูจน์ศักยภาพของ M. rupellensis ในการย่อยสลายอิโนซิทอล (Inositol) ซึ่งเป็นสารที่สามารถยับยั้งประสิทธิภาพในการขนส่งกรดไขมัน โดยทดลองทั้งในหลอดทดลองและในร่างกาย และคาดว่า การที่ M. rupellensis มีส่วนในการก่อโรคอ้วนอาจเชื่อมโยงกับการย่อยสลายอิโนซิทอล
นักวิจัยชี้ว่า การศึกษานี้เผยความเชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างแบคทีเรียเมกะโมนาสและการเกิดโรคอ้วน และทำให้เห็นกลไกที่แบคทีเรียชนิดนี้กระตุ้นให้เกิดโรคอ้วน จึงน่าจะมีส่วนสนับสนุนการวินิจฉัยและการรักษาโรคอ้วนในอนาคต.-814.-สำนักข่าวไทย