วอชิงตัน 25 ต.ค.- ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ คะแนนเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่ใช่เสียงชี้ขาดผู้สมัครที่จะเป็นผู้ชนะโดยตรง แต่เป็นเสียงของ “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่จะลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามเสียงของประชาชน ข้อมูลจากเอกสารวิชาการ Academic Focus เดือนมกราคม 2560 ในคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของไทยอธิบายไว้ว่า คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เป็นระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยทางอ้อม เนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1787 เกรงว่า ประชาชนจะไม่มีวิจารณญาณที่ดีเพียงพอที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ดีได้ จึงสร้างระบบคณะผู้เลือกตั้ง เพื่อให้ผู้เลือกตั้ง (Elector) จากแต่ละรัฐเดินทางมาร่วมประชุมเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ขณะเดียวกันการใช้ระบบนี้ทำให้ประธานาธิบดีมีความอิสระจากรัฐสภา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภา ขณะที่ผู้เลือกตั้งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง และทำหน้าที่ได้เพียงครั้งเดียว จึงไม่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง คณะผู้เลือกตั้งมาจากไหน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกคณะผู้เลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี โดยที่แต่ละรัฐจะมีวิธีการเลือกแตกต่างกันไปตามกฎหมายระดับรัฐ บางรัฐอาจพิมพ์ชื่อผู้สมัครเป็นผู้เลือกตั้งในบัตรลงคะแนนเดียวกับผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี บางรัฐอาจพิมพ์บัตรลงคะแนนแยกออกไป ปัจจุบันจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมีทั้งหมด 538 คน เป็นไปตามจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 100 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 435 คน จากทั้งหมด 50 รัฐ รวมกับคณะผู้เลือกตั้ง […]