เปิดประชุมโลกร้อน COP27 ที่อียิปต์วันนี้

ชาร์มเอลเชค 6 พ.ย.- การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 27 หรือคอป 27 (COP27) ที่อียิปต์เปิดฉากแล้วในวันนี้ เพื่อหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ความช่วยเหลือในการจำกัดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การประชุมมีขึ้นที่ชาร์มเอลเชค เมืองตากอากาศริมทะเลแดง จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้นำรวมอยู่ด้วย มีประเทศและดินแดนต่าง ๆ เข้าร่วมมากกว่า 190 แห่ง ที่ประชุมจะหารือเรื่องการเร่งดำเนินการตามแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 การให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยีในการจำกัดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์เมื่อปี 2564 เห็นพ้องกันว่า ภาคีทุกแห่งจะร่วมกันหาทางทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือยูเอ็นเอฟซีซีซี (UNFCCC) คาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะสูงขึ้นราว 2.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นคริสต์ศวรรษที่ 21 หรือภายในสิ้นปี พ.ศ.2643 หากภาคียังคงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นในปัจจุบัน ทั่วโลกกังวลเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เนื่องจากเกิดสภาพอากาศผิดปกติบ่อยครั้งขึ้น และมีความเสียหายรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา เช่น ปากีสถานเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ญี่ปุ่นมีอุณหภูมิฤดูร้อนปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่การประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือจี 20 (G20) ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อเดือนสิงหาคมไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมได้ และถูกตำหนิว่าเป็นเพราะชาติตะวันตกและรัสเซียเป็นอริกันจากเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน.-สำนักข่าวไทย

เลขาฯ ยูเอ็นตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมหนักในปากีสถาน

อิสลามาบัด 10 ก.ย.- นายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัยในปากีสถาน ปิดท้ายการเยือน 2 วันที่ต้องการให้ประชาคมโลกตระหนักถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปากีสถาน ฤดูมรสุมที่มีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับธารน้ำแข็งตามเทือกเขาทางเหนือละลาย ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน คร่าชีวิตคนจนถึงขณะนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 1,390 คน ขณะที่บ้านเรือน ถนน รางรถไฟ สะพาน และผลผลิตทางการเกษตรถูกกระแสน้ำท่วมซัดเสียหาย พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจมน้ำ รัฐบาลระบุว่า มีประชาชนเดือดร้อนเกือบ 33 ล้านคน และประเมินมูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วมไว้ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) รัฐบาลปากีสถานและนายกูเตอร์เรสต่างโทษว่า เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักนายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟของปากีสถานเผยแพร่คลิปนายกูเตอร์เรสกล่าวขณะเดินทางถึงแคว้นสินธ์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศในวันนี้ว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะไม่รู้สึกสะเทือนใจเมื่อได้ยินเรื่องราวของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ปากีสถานต้องการความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหญ่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความเมตตากรุณา แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรม โลกต้องตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับประเทศรายได้น้อย มนุษยชาติทำสงครามกับธรรมชาติมานาน ขณะนี้ธรรมชาติได้ตอบโต้กลับแล้ว แคว้นสินธ์ถูกธรรมชาติโต้กลับทั้งที่ไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เร่งให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรุนแรง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นธรรมอย่างมาก ส่วนคลิปที่รัฐมนตรีสารสนเทศปากีสถานเผยแพร่เห็นนายกูเตอร์เรสเอ่ยปากว่า เกินจะคาดคิดได้ ขณะนั่งอยู่บนเครื่องบินลำเดียวกับนายกรัฐมนตรีชารีฟ สำรวจความเสียหายเหนือพื้นที่ประสบภัย.-สำนักข่าวไทย

ฝรั่งเศสเตรียมร้อนจัดช่วงสุดสัปดาห์นี้

ปารีส 18 มิ.ย.- ฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศในยุโรปเตรียมเผชิญอากาศร้อนจัดช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่คาดว่าอุณหภูมิอาจจะทำสถิติสูงสุด อีกทั้งยังเกิดกระแสวิตกเรื่องไฟป่าและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิในหลายพื้นที่ของฝรั่งเศสสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสแล้วเมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศสแจ้งว่า อุณหภูมิใน 11 พื้นที่ทำลายสถิติเดือนมิถุนายนไปแล้วเมื่อวันศุกร์ และอาจสูงแตะ 42 องศาเซลเซียสได้ในบางพื้นที่ในวันนี้ เป็นคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี 2490 หลายพื้นที่มีแนวโน้มจะมีอุณหภูมิสูงที่สุดของเดือนหรือสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศสเผยว่า โรงพยาบาลรับผู้ป่วยเต็มศักยภาพแล้ว และคาดว่าจะต้องรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก กระทรวงได้เปิดสายด่วนเรื่องคลื่นความร้อน และขอให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ที่เตือนภัยระดับสีแดงอยู่แต่ในบ้าน ขณะเดียวกันได้มีมาตรการดูแลบ้านพักคนชราเป็นพิเศษ หลังจากที่เคยมีคนชราเสียชีวิตมากมายจากคลื่นความร้อนปี 2546 โดยได้ติดตั้งระบบฉีดพ่นน้ำให้อาคารเย็น และให้คนชราได้หมุนเวียนกันเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ขณะที่อาสาสมัครสภากาชาดออกแจกจ่ายน้ำดื่มให้แก่คนไร้บ้านในเมืองตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ที่คาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มเป็น 38 องศาเซลเซียสในวันนี้ ส่วนที่สเปน ประชาชนประมาณ 200 คนต้องอพยพหนีไฟป่าทางตะวันตกเฉียงเหนือที่เผาพื้นที่ไปแล้วเกือบ 56,250 ไร่ เช่นเดียวกับประชาชนอีกกว่า 3,000 คนที่ต้องอพยพหนีไฟป่าทางตอนกลางของประเทศ อุณหภูมิส่วนใหญ่ของสเปนอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียสเมื่อวันศุกร์ ขณะที่หลายเมืองทางตอนเหนือของอิตาลีต้องประกาศปันส่วนน้ำ แคว้นลอมบาดีอาจต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพราะภาวะแล้งแห้งเป็นประวัติการณ์เสี่ยงเป็นอันตรายต่อการทำการเกษตร ด้านสหราชอาณาจักรเผชิญอากาศร้อนที่สุดของปีนี้เมื่อวันศุกร์ อุณหภูมิสูงเกิน 30 องศาเซลเซียสในช่วงหลังเที่ยง เดินหน้าทำสถิติต่อเนื่องมาจาก 28 องศาเมื่อวันพุธ และ […]

วานูอาตูประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

พอร์ตวิลา 28 พ.ค.- รัฐสภาของวานูอาตู ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว หลังจากนายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 40,000 ล้านบาทรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐสภาวานูอาตูเห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันท์เมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ต่อญัตติให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ตามที่หลายประเทศทำมาแล้ว เช่น อังกฤษ แคนาดา ฟิจิ ผู้นำในสภากล่าวว่า ภารกิจของวานูอาตูคือการผลักดันให้ประเทศที่มีความรับผิดชอบดำเนินการให้สอดคล้องกับขนาดและความเร่งด่วนของวิกฤตนี้ การใช้คำว่า ภาวะฉุกเฉิน เป็นวิธีส่งสัญญาณว่าต้องเร่งดำเนินการมากกว่าปกติ รัฐสภาลงมติดังกล่าวหลังจากนายกรัฐมนตรีบ็อบ เลาแมนแถลงว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและสภาพอากาศรุนแรงได้ทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกเกิดผลกระทบที่ไม่สมส่วนกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือพายุไซโคลนโซนร้อนทำลายล้างสูง 2 ลูก และภาวะแห้งแล้งรุนแรง เขาระบุว่า วานูอาตูจะสามารถปฏิบัติตามพันธกิจลดโลกร้อนตามข้อตกลงปารีสภายในปี 2573 ได้ หากใช้งบประมาณอย่างน้อย 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 40,900 ล้านบาท) ดำเนินการตามแผนที่มุ่งเน้นเรื่องการปรับตัว การบรรเทาผลกระทบ และการดูแลความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากประเทศผู้บริจาค วานูอาตูซึ่งมีประชากรประมาณ 300,000 คน เคลื่อนไหวเรื่องนี้ก่อนที่สหประชาชาติจะมีการลงมติในเรื่องที่วานูอาตูยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกคุ้มครองประเทศที่เสี่ยงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้แม้ความเห็นของศาลโลกจะไม่มีผลผูกพัน แต่วานูอาตูหวังว่า จะปูทางให้เกิดกฎหมายสากลให้แก่คนรุ่นหลังเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความเสียหาย ความสูญเสีย และสิทธิมนุษยชน.-สำนักข่าวไทย

ฝ่ายค้านออสเตรเลียอาจได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ซิดนีย์ 22 พ.ค.- พรรคฝ่ายค้านของออสเตรเลียมีแนวโน้มจะได้เป็นรัฐบาลเสียงน้อย หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้ เนื่องจากผู้สมัครอิสระที่มุ่งชูเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับเสียงสนับสนุนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ปิดฉากรัฐบาลผสมสายอนุรักษ์นิยมที่บริหารประเทศมาร่วมทศวรรษ สถานีโทรทัศน์ในออสเตรเลียรายงานคาดการณ์ว่า พรรคแรงงานสายกลางซ้ายน่าจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรขาดไป 4-5 ที่นั่ง ไม่ถึง 76 ที่นั่งที่ถือเป็นเสียงข้างจากทั้งหมด 151 ที่นั่ง และมีหลายเขตเลือกตั้งที่มีคะแนนสูสีจนยากจะชี้ขาดผู้แพ้ชนะได้ นายแอนโทนี อัลบานีส หัวหน้าพรรคแรงงานวัย 59 ปี จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และนำพาพรรคกลับมาเป็นรัฐบาลครั้งแรกนับจากปี 2556 เขากล่าวประกาศชัยชนะเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า จะสาบานตนในวันจันทร์พร้อมกับรัฐมนตรีหลายตำแหน่งเพื่อเดินทางไปประชุมกลุ่มควอด (Quad) ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นในวันอังคารกับผู้นำสหรัฐ ญี่ปุ่น และอินเดีย ด้านนายริชาร์ด มาร์เลส รองหัวหน้าพรรคแรงงานเผยกับสถานีโทรทัศน์เอบีซี (ABC) ในวันนี้ว่า กระบวนการนับคะแนนยังไม่แล้วเสร็จ พรรคจึงยังมีโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก รอยเตอร์ระบุว่า ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจต้องใช้เวลาหลายวัน ส่วนคะแนนที่ลงล่วงหน้าทางไปรษณีย์มากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 ล้าน 7 แสนเสียงจะเริ่มการนับในบ่ายวันนี้ เร็วกว่าการเลือกตั้งที่แล้วมาถึง 2 วัน ขณะเดียวกันผู้สมัครอิสระที่หาเสียงเน้นเรื่องการลงมือเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถโค่นฐานเสียงเดิมของพรรคเสรีนิยมของนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันได้หลายเขต อีกทั้งยังสามารถแย่งคะแนนของพรรคแรงงานได้หลายเขตด้วย นายโจชัวหรือจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังและรองหัวหน้าพรรคเสรีนิยมมีแนวโน้มจะเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่แพ้เลือกตั้ง […]

ออสเตรเลียอุณหภูมิพุ่ง 50.7 องศาสูงสุดในรอบ 62 ปี

ซิดนีย์ 14 ม.ค. – สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียเผยว่า เมืองออนสโลว์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชนบทของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียมีสภาพอากาศร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งถึง 50.7 องศาเซลเซียส และเป็นวันที่ร้อนที่สุดทำสถิติเทียบเท่ากับอุณหภูมิสูงสุดของประเทศที่เคยวัดได้เมื่อปี 2503 สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า เมืองออนสโลว์ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 50.7 องศาเซลเซียสเมื่อช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี ทำลายสถิติสูงสุดของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียและทำสถิติเทียบเท่าอุณหภูมิสูงสุดของประเทศที่ท่าอากาศยานเมืองอูดนาดัตตาในรัฐเซาท์ออสเตรเลียเมื่อ 62 ปีก่อน ดร. มาร์ติน ไรซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของไคลเมต เคาน์ซิล (Climate Council) ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของออสเตรเลีย ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจนเทียบเท่ากับสถิติเมื่อ 62 ปีก่อนเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มภาวะโลกร้อนระยะยาวที่มีสาเหตุจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เขายังคาดการณ์ว่า หากออสเตรเลียยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิระดับสูงดังกล่าวอาจกลายเป็นเรื่องปกติในประเทศ โดยที่นครซิดนีย์และนครเมลเบิร์นอาจมีอุณหภูมิสูงถึงระดับ 50 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อนภายในปี 2573.-สำนักข่าวไทย

ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ปี 2065

“พล.อ.ประวิตร” ประชุมนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนุน ปลูกป่า-อนุรักษ์ป่าเศรษฐกิจ ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ค.ศ.2065

ปฏิกิริยาต่อข้อตกลง COP26 มีทั้งผิดหวังและไม่พอใจ

กลาสโกว์ 14 พ.ย.- ข้อตกลงกลาสโกว์ที่นานาชาติบรรลุในการประชุมเมื่อวันเสาร์ตามเวลาอังกฤษ มีทั้งผู้ที่มองว่า ยังไม่มากเพียงพอและผู้ที่มองว่า ที่ประชุมดีแต่พูด นายอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) ทวีตยอมรับว่า ผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) มีเนื้อหาประนีประนอม สะท้อนถึงผลประโยชน์ ความขัดแย้งและเจตนารมณ์ทางการเมืองของโลกทุกวันนี้ ข้อตกลงกลาสโกว์เป็นก้าวสำคัญแต่ยังไม่มากเพียงพอ โลกที่เปราะบางกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย หายนะด้านสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นเรื่องใกล้ตัว เลขาธิการยูเอ็นทวีตถึงคนหนุ่มสาว ชุมชนพื้นเมือง แกนนำสตรี และแกนนำเรียกร้องให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกคนว่า เขารู้ว่าทุกคนอาจผิดหวัง แต่ทุกคนกำลังสู้เพื่อชีวิตตนเอง และการต่อสู้นี้จะต้องชนะ เกรตา ธุนแบร์ก นักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 18 ปี ทวีตว่า COP26 จบลงแล้ว สรุปเนื้อหาได้แค่การพูด ๆ ๆ ขณะที่คนทำงานที่แท้จริงยังคงอยู่นอกห้องประชุม และจะไม่มีวันยอมแพ้ ก่อนหน้านี้ธุนแบร์กและนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ประณามการประชุมในขณะที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-13 พฤศจิกายนว่า ผู้นำโลกไม่ลงมือทำจริงอย่างที่พูด ด้านนายอโศก ชาร์มา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะประธานการประชุม COP26 แถลงขอโทษต่อที่ประชุมอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เมื่อกลุ่มประเทศเสี่ยงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่พอใจที่มีการแก้ไขเนื้อความเรื่องยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน […]

นายกฯ ญี่ปุ่นประกาศนโยบายหลังชนะเลือกตั้ง

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นประกาศจะเดินหน้านโยบายกลาโหมที่มุ่งสกัดจีน แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเร่งการฟื้นตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด หลังจากชนะเลือกตั้งทั่วไปอย่างเกินความคาดหมายวานนี้

นายกฯ นำคณะบินประชุม COP26 เสียดายไม่ได้อยู่ร่วมเปิดประเทศ

นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะออกเดินทางไปร่วมประชุม COP26 รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ยอมรับเสียดายไม่ได้อยู่ในช่วงที่ไทยเปิดประเทศ แต่จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นิวซีแลนด์จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50%

นิวซีแลนด์กล่าววันนี้ให้คำมั่นว่าจะปรับลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2030 ในขณะที่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ คอป ครั้งที่ 26 กำลังจะเริ่มขึ้นในช่วงเย็นวันอาทิตย์ ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์ ในประเทศสก็อตแลนด์

1 3 4 5 6 7
...