26 เมษายน 2568
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
เมื่อช่วงต้นปี 2025 วงการดาราศาสตร์ต่างตื่นเต้นกับการค้นพบ 2024 YR4 ดาวเคราะห์น้อยที่โคจรมาใกล้โลกอย่างมากในช่วงปลายปี 2024 ซึ่งแต่เดิมมีการทำนายความเป็นไปได้ที่ 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า โดยช่วงเดือนกุมภาพันธ์มีการคาดการณ์ความเป็นไปได้ถึง 3.1%
แม้ต่อมาจะมีการปรับลดความเป็นไปได้เหลือเกือบ 0% แต่กลับพบว่า โอกาสที่ 2024 YR4 จะพุ่งชนดวงจันทร์ในเดือนธันวาคม 2032 กลับเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4%
การติดตามวงโคจรและที่มาของ 2024 YR4 จึงเป็นข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนรับมือเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางพุ่งชนโลก ซึ่งเคยเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนโฉมโลกในยุคดึกดำบรรพ์และพร้อมจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทุกเมื่อ
ที่มาดาวเคราะห์น้อย
ดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) เป็นเทหวัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ (Planet) แต่ใหญ่กว่าสะเก็ดดาว (Meteoroid) มีขนาดตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,000 กิโลเมตรจนถึง 1 เมตร
ดาวเคราะห์น้อยจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ พบได้มากในระบบสุริยะชั้นใน โดยเฉพาะบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี แม้จะมีดาวเคราะห์น้อยมากกว่า 1.5 ล้านดวง แต่มวลทั้งหมดของดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์น้อยเทียบเท่ากับมวล 3% ของดวงจันทร์เท่านั้น
มีดาวเคราะห์น้อยจำนวนกว่า 37,000 ดวงที่จัดเป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Asteroids : NEAs) โดยมีวงโคจรห่างจากดวงอาทิตย์ในระยะทางที่น้อยกว่า 1.3 AU (1 AU = 150 ล้านกิโลเมตร = ระยะห่างจากโลกกับดวงอาทิตย์)
ดาวเคราะห์น้อยชนิด NEAs แบ่งได้ 4 กลุ่มตามรูปแบบของวงโคจร ได้แก่
1.Amor ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นวงโคจรอยู่ข้างนอกเส้นวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์
2.Apollo ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นวงโคจรใหญ่กว่าเส้นวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์ และตัดกับวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์
3.Aten ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นวงโคจรเล็กกว่าเส้นวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์ และตัดกับวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์
4.Atira ดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นวงโคจรอยู่ข้างในเส้นวงโคจรของโลกกับดวงอาทิตย์
ดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม Apollo และ Aten จึงต้องเฝ้าติดตามเนื่องจากมีโอกาสโคจรมาใกล้โลก โดยปี 2024 พบว่ามีจำนวนดาวเคราะห์น้อยชนิด Apollos มากถึง 21,132 ดวง
การค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2024 ระบบสังเกตการณ์วัตถุใกล้โลก (Near-Earth Objects : NEOs) ในประเทศชิลีได้ตรวจพบการโคจรใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 เป็นครั้งแรก
โดย 2 วันก่อนหน้านั้น ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 โคจรมาใกล้โลกที่สุดในระยะทาง 828,800 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2024 หรือประมาณ 2.1 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์
ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า 2024 YR4 เป็นดาวเคราะห์น้อยในกลุ่ม Apollo ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 4 ปี และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดที่ 90 เมตร เทียบเท่ากับอาคารสูง 12 ชั้น
โอกาส 2024 YR4 ชนโลก
แต่เดิมในช่วงเดือนธันวาคม 2024 คาดการณ์ว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกในปี 2032 มีเพียง 1.2%
แต่ในระหว่างวันที่ 27 มกราคม 2025 ถึง 20 กุมภาพันธ์ 2025 มีการจัดอันดับความเสี่ยงพุ่งชนโลกของ 2024 YR4 สูงถึงอันดับ 3 จาก 10 อันดับ ตามมาตรวัดความเสี่ยงของ Torino scale (0 คือ ไม่ชนโลกแน่นอน 8-10 ชนโลกแน่นอน)
กระทั่ง ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2025 เมื่อองค์การ NASA ยกระดับความเสี่ยงการพุ่งชนโลกของ 2024 YR4 จาก 2.6% เป็น 3.1 % (หรือโอกาส 1 ใน 32) ส่วนวันเดียวกัน องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ก็ยกระดับความเสี่ยงเป็น 2.8%
แต่เดิมมีการประเมินว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงถูกดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 พุ่งชน คือบริเวณตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา ไปจนถึงพื้นที่เอเชียใต้
การคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้สื่อทั่วโลกนำเรื่องราวของดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ไปตีแผ่ พร้อมตั้งฉายาว่าเป็น City Killer เพื่อสื่อถึงความน่ากลัวของดาวเคราะห์น้อยที่คาดว่าอาจจะมาเยือนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เพียงแค่วันถัดมา องค์การ NASA ได้ปรับเปลี่ยนความเสี่ยงการพุ่งชนโลกของ 2024 YR4 มาเหลือแค่ 1.5% พร้อมย้ำว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะมาพุ่งชนโลกมีน้อยมาก
กระทั่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ มีการลดความเสี่ยงการพุ่งชนโลกของ 2024 YR4 มาอยู่ที่อันดับ 0 ตามมาตรวัดความเสี่ยงของ Torino scale
ดังนั้น การประเมินล่าสุดในเดือนเมษายน 2025 โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกในปี 2032 จึงแทบเป็นไปไม่ได้
โอกาส 2024 YR4 ชนดวงจันทร์สูงถึง 1 ใน 25
แม้โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้าแทบจะเป็น 0 แต่องค์การ NASA กลับพบว่า โอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะพุ่งชนดวงจันทร์ในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือวันที่ 22 ธันวาคม 2032 เพิ่มจาก 1.7% เป็น 3.8%
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า หากการพุ่งชนเกิดขึ้นจริงก็จะไม่ส่งผลต่อวงโคจรของดวงจันทร์ และยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาปรากฏการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีอีกด้วย
ขนาดและรูปทรงที่แท้จริงของ 2024 YR4
เมื่อเดือนมีนาคม 2025 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ใช้กล้องถ่ายคลื่นใกล้อินฟราเรด ประเมินขนาดของดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ว่าน่าจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 60 เมตรเท่านั้น
ส่วนการสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์ที่หอดูดาว Gemini Observatory ในประเทศชิลี พบว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 มีรูปทรงแบนคล้ายลูกฮอกกี ไม่ได้มีรูปทรงคล้ายมันฝรั่งเหมือนดาวเคราะห์น้อยทั่วไป และมีการหมุนรอบตัว 1 ครั้งทุก ๆ 20 นาที
คาดว่าดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 จะเคลื่อนตัวออกจากดวงอาทิตย์จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2026 ก่อนจะกลับมาให้สังเกตการณ์ได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน 2028 และมีกำหนดโคจรมาใกล้โลกอีกในวันที่ 17 ธันวาคม 2028
https://www.snopes.com/news/2025/02/21/nasa-asteroid-hitting-earth-2032/
https://www.bbc.com/future/article/20250312-the-astronomers-watching-the-skies-for-asteroids
https://apnews.com/article/nasa-webb-telescope-2024-yr4-a98d1ebf61260436cf3f686b803e289d
https://apnews.com/article/nasa-asteroid-2024-yr4-629436fdba363ed06c188f43e0c47534
https://en.wikipedia.org/wiki/2024_YR4
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter