9 เมษายน 2565
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Myth Detector (จอร์เจีย)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
ออสเตรเลียไม่ได้ห้ามคนไข้ผ่าตัดฉุกเฉิน แต่รัฐควีนสแลนด์กำหนดให้คนไข้ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 ทุกคน เนื่องจากเป็นการผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน และคนไข้มีความเสี่ยงป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากโควิด 19 หากไม่ฉีดวัคซีน
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Facebook ในประเทศจอร์เจีย โดยอ้างรายงานจากสำนักข่าว 7News ของประเทศออสเตรเลียว่า รัฐบาลออสเตรเลียสั่งห้ามไม่ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 เข้ารับการผ่าตัด โดยรัฐควีนสแลนด์อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสเท่านั้นที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
สำนักงานสาธารณสุขของรัฐควีนสแลนด์ เปิดเผยต่อทางสำนักข่าว 7News เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมปี 2021 ว่าทางการของควีนสแลนด์ได้ดำเนินการตามระบบเบียบสากลว่าด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและการฉีดวัคซีน โดยกำหนดให้คนไข้ที่ต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไต, ปอด และหัวใจ ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากคนไข้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าประเทศออสเตรเลียห้ามการผ่าตัดฉุกเฉินแก่ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน เพราะข้อกำหนดดังกล่าวมีไว้สำหรับคนไข้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะเท่านั้น ซึ่งแต่ละรายต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดเป็นเวลานาน
การผ่าตัดแบ่งได้เป็นการผ่าตัดฉุกเฉินและการผ่าตัดที่ต้องมีการวางแผน การผ่าตัดฉุกเฉินต้องทำอย่างเร่งด่วนหลังจากผ่านการวินิจฉัยแล้ว ส่วนการผ่าตัดที่ต้องวางแผน การผ่าตัดจะเกิดขึ้นหลังจากคนไข้ผ่านการประเมินทางคลินิกว่ามีความพร้อมสำหรับการผ่าตัดแล้ว
การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะไม่จัดเป็นการผ่าตัดฉุกเฉิน เพราะคนไข้ต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานนับปี ทั้งการรอการบริจาคอวัยวะที่ใช้ปลูกถ่ายและการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จนถึงการวางแผนดูแลคนไข้หลังการผ่าตัด โดยเฉลี่ยคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องใช้เวลา 4 ถึง 5 ปีก่อนเข้ารับการผ่าตัด
เหตุผลที่คนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 เพราะหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้ว คนไข้ต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายยอมรับอวัยวะหรือเนื้อเยื้อที่ได้รับจากการบริจาค จึงเป็นเหตุผลให้ภูมิคุ้มกันของของคนไข้อ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 จนป่วยหนักหรือเสียชีวิต
ดิพาล คูมาร์ ประธานสมาคมการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอเมริกา (AST) อธิบายว่า ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจะต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการป้องกันอาการแทรกซ้อนและการติดเชื้อก่อนและหลังการผ่าตัดอย่างเคร่งครัด โดยปกติแล้วคนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดต้องฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ และบี, วัคซีนปอดอักเสบ, และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้คนไข้ต้องห้ามสูบบุหรี่, งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องกินยากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัด ข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยให้การผ่าตัดมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นและลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผลการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศสที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 พบว่า 18% ของคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้วติดเชื้อโควิด 19 จะเสียชีวิต และยังมีการศึกษาที่พบการเสียชีวิตจากโควิด 19 ในกลุ่มผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะอื่นๆ ถึง 30%
โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาก็มีข้อกำหนดให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 ก่อนเช่นกัน
UCHealth เครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในรัฐโคโลราโดออกข้อกำหนดเมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 ให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและผู้บริจาคอวัยวะ ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เท่านั้น
UW Medicine เครือข่ายโรงพยาบาลในรัฐวอชิงตัน กำหนดให้คนไข้ที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ จะต้องฉีดวัคซีนที่จำเป็นทุกชนิด รวมถึงวัคซีนโควิด 19
โรงพยาบาลในรัฐโอไฮโอทั้ง Ohio University Hospitals และ Cleveland Clinic ต่างกำหนดให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะและผู้บริจาค ต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 ก่อนการผ่าตัดเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง:
http://www.mythdetector.ge/en/node/5520
- หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter