เมื่ออายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะในร่างกายก็จะลดน้อยลง เป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปกับผู้สูงอายุในช่วงวัย 70 เป็นต้นไป และสมองก็คือหนึ่งในอวัยวะเหล่านั้น ที่มีวันเสื่อมไปตามกาลเวลาและตามพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละคน ทั้งนี้ ถึงจะไม่มีวิธีที่รักษาได้อย่างหายขาด แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าเราสามารถชะลอการเกิดขึ้นได้ โดยการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์สำนักข่าวไทย อสมท ได้สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะสมองฝ่อ หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า “ภาวะสมองเสื่อม” ว่าเป็นอย่างไร และจะสามารถยับยั้งการเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งอธิบายโดย นายแพทย์เจษฎา เขียวขจี นายแพทย์ปฏิบัติการโรคสมองและระบบประสาทไขสันหลัง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์
สมองฝ่อ เป็นอย่างไร ?
สมองฝ่อคือภาวะการทำงานที่เสื่อมถอยของสมอง เปรียบเทียบได้กับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายที่เผชิญได้เช่นเดียวกัน ดังที่กล่าวกันว่า ลำไส้ทำงานแย่ลง ปอดแย่ลง สมองก็เช่นกัน ซึ่งผลกระทบที่ตามมานั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิด เช่น หากเกิดจากการเสื่อมของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดและความจำ ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลงลืมง่าย ชอบถามคำถามซ้ำไปมา กลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มอัลไซเมอร์
หากมีการเสื่อมตรงสมองส่วนหน้า ผู้ป่วยก็อาจจะมีปัญหาเรื่องทักษะด้านความคิด ความจำ การวางแผน และการทำงานต่าง ๆ ที่เมื่อก่อนเคยทำได้ แต่ตอนนี้กลับทำไม่ได้แล้ว หากมีการเสื่อมตรงสมองที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น ก็อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องหลงทางในพื้นที่ที่ตัวเองคุ้นเคยเป็นประจำ หรือหากมีการเสื่อมตรงสมองด้านที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา ก็จะทำให้ผู้ป่วยต้องนึกคำพูดนานขึ้น หรือรับสารไม่เข้าใจในระหว่างการสนทนา
ช่วงอายุในการเกิดสมองฝ่อ
ภาวะสมองเสื่อมหรือฝ่อไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้ป่วยวัยชราเสมอไป แต่ยังสามารถเกิดกับคนอายุน้อยได้ด้วย อย่างที่เรียกกันว่า “ภาวะสมองฝ่อก่อนวัย” ในขณะเดียวกัน โอกาสของที่ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี แต่สมองยังไม่เสื่อมและใช้ชีวิตได้อย่างปกติก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยคือกลุ่มรอยโรค ความผิดปกติต่าง ๆ ที่ทำให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น ผู้ป่วยบางคนมีโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ก็อาจจะทำให้สมองฝ่อเร็วกว่าอายุ หรือฝ่อเร็วเมื่อเทียบกับคนที่มีอายุเท่า ๆ กัน
ผลกระทบ 3 ด้าน ของผู้ที่สมองฝ่อก่อนวัย
ผู้ป่วยกลุ่มสมองเสื่อมที่มีปัญหามักจะแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยจะส่งผลประทบหลัก ๆ กับชีวิตใน 3 ด้าน ด้วยกัน ด้านแรกคือด้านการทำงาน ผู้ป่วยอาจจะทำงานบางอย่างไม่ได้ในขณะที่เมื่อก่อนเคยทำได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญานของสมองที่เสื่อมก่อนวัย ด้านต่อมาคือการใช้ชีวิตประจำวัน การลืมทำกิจวัตรประจำวัน หรือการทำไม่เป็นทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ทานข้าว เป็นต้น และด้านสุดท้ายคือทักษะทางสังคม ผู้ป่วยอาจจะเปลี่ยนบุคลิคภาพเป็นคนละคนจากเมื่อก่อน เช่น จากที่เป็นคนสุภาพเรียบร้อยก็กลายเป็นคนก้าวร้าว มีปัญหากับคนรอบข้างบ่อย หรือมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกแยกไปจากสังคม ซึ่งหากคนใกล้ตัวของท่านมีอาการดั่งที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว
การรักษาภาวะสมองฝ่อ
ตามหลักแล้ว ภาวะสมองฝ่อไม่สามารถรักษาให้กลับมาหายขาดได้ เนื่องจากการที่อวัยวะจะเสื่อมถอยไปตามกาลเวลานั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเผชิญควบคู่ไปกับอายุที่มากขึ้น เช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายที่มีอายุเป็นปัจจัยสำคัญ แต่หากอาการที่เป็นนั้นส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในประจำวันมากก็ควรได้รับการรักษา ทั้งนี้ จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น หากผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องความจำ ก็อาจมีการให้ยาบำรุงที่เสริมด้านความคิดความจำ
นอกเหนือจากการใช้ยา การใช้วิธีปรับพฤติกรรมก็สำคัญเช่นกัน สิ่งกระตุ้นและสภาพแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญ ซึ่งวิธีนี้ผู้ดูแลสามารถช่วยได้ โดยปรับสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วย ให้อยู่ในที่ ๆ สบาย ไม่มีสิ่งที่คอยกระตุ้นอารมณ์ผู้ป่วยให้แปรปรวน หรืออาจจะหากิจกรรมให้ทำบ้าง เช่น เล่นเกมอักษรไขว้ เล่นหมากรุก เพื่อเป็นการกระตุ้นสมองผู้ป่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น
การเกิดภาวะสมองฝ่อหรือเสื่อม อาจเป็นภาวะที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถชะลอการเกิดได้โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ และไม่ทำพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมก่อนวัยอันควร
วันที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง: 11 พฤษจิกายน 2021
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย: ณัฐวัฒน์ จิตรมั่น จากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท
เรียบเรียงบทความโดย: ชณิดา ภิรมณ์ยินดี
คลิปอ้างอิง: https://youtu.be/uQBPq8-2CIo
- 🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” 🎯
- LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
- FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
- Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
- IG :: https://instagram.com/SureAndShare
- Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
- TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter