14 สิงหาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Science Feedback (สหรัฐอเมริกา)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ทำให้เข้าใจผิด
บทสรุป:
- หัวใจอักเสบในเด็กจากวัคซีน mRNA ยังอยู่ระหว่างสอบสวน อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง
- การติดเชื้อโควิด 19 ทำให้หัวใจอักเสบได้เช่นกัน
- โควิด 19 อาจทำให้เกิดอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) ซึ่งมีความรุนแรงมาก
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อความโจมตีความปลอดภัยของวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA เผยแพร่ผ่าน Twitter ในสหรัฐอเมริกา โดย เคลลี วิคตอรี แพทย์ชาวอเมริกันที่อ้างว่า ในจำนวนผู้รับวัคซีนโควิด 19 ทั้งหมดในสหรัฐฯ มีสัดส่วนเยาวชนอายุ 12 ถึง 24 ปีเพียงแค่ 8.8% แต่เยาวชนกลับเป็นกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคหัวใจอักเสบหลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19 ถึง 52.5% ทั้งๆ ที่โอกาสหายป่วยจากโควิด 19 ของเยาวชนสูงถึง 99.99% การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กจึงไม่คุ้มกับความเสี่ยง
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
Science Feedback พบว่า เคลลี วิคตอรี นำตัวเลขดังกล่าวมาจากหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2021 โดยเป็นการเปรียบเทียบอัตราการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ระหว่างผู้รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA และประชาชนทั่วไป โดยจัดแบ่งตามกลุ่มอายุ
ผลปรากฏว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจอักเสบในผู้สูงอายุที่รับวัคซีนและประชาชนทั่วไปแทบไม่แตกต่างกัน แต่เยาวชนอายุ 12 ถึง 24 ปีที่รับวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA กลับมีอัตราการเกิดโรคหัวใจอักเสบมากกว่าประชาชนทั่วไปอย่างมาก
อย่างไรก็ดี สถิติเหล่านี้นำมาจากระบบรายงานเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์จากวัคซีน (VAERS) ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนสอบสวนว่ามีสาเหตุมาจากวัคซีนจริงหรือไม่
นอกจากนี้รายงานของ CDC ยังมีคำอธิบายเพื่อชี้แจงว่า เยาวชนที่เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด 19 จำนวน 270 คนจาก 285 คนหรือ 91% มีอาการไม่รุนแรงและสามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ โดยร้อยละ 81% จากเด็กที่รักษาตัวที่บ้านกลับมามีสุขภาพแข็งแรงตามเดิม
ข้อมูลระบุว่าในจำนวนเด็กอเมริกันอายุ 12 ถึง 15 ปีที่รับวัคซีนโควิด 19 ไปแล้ว 3.2 ล้านโดส มีรายงานอาการข้างเคียงจากวัคซีนทั้งหมด 1,400 ครั้ง ซึ่ง 96% คืออาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่นเวียนศีรษะและคลื่นไส้
เป็นความจริงที่ว่าเด็กและเยาวชนมีโอกาสเสียชีวิตจากโควิด 19 น้อยกว่าประชากรกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยข้อมูลล่าสุดของ CDC เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2021 ระบุว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ในสหรัฐฯกว่า 580,000 คน ผู้ที่มีอายุ 18 ถึง 39 ปี เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 2,300 คน และเด็กอายุระหว่าง 0 ถึง 17 ปี เสียชีวิตเพียงแค่ 314 คน
แม้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะต่ำ แต่เด็กและเยาวชนที่ติดเชื้อโควิด 19 อาจเผชิญกับสภาวะ Long COVID หรือความผิดปกติทางร่างกายหลังหายป่วยจากโควิด 19 แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ทั้งอาการปวดศีรษะ, สูญเสียการรับรสและกลิ่น, อาการอ่อนเพลีย, หายใจติดขัด และปัญหาด้านสติปัญญา
นอกจากนี้ การติดเชื้อโควิด 19 ยังเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเกิดอาการอักเสบที่หัวใจและอวัยวะต่างๆ ได้เช่นกัน
หนึ่งในอาการที่พบได้แก่ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (MIS-C) ซึ่งทำให้อวัยวะภายในทั้ง หัวใจ, ปอด, ไต และสมอง เกิดอาการอักเสบ ซึ่งข้อมูลของ CDC ระบุว่า 99% ของเด็กที่มีอาการ MIS-C คือผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และ 1% คือเด็กที่ใกล้ชิดกับคนที่มีเชื้อโควิด 19 ปัจจุบันมีรายงานเด็กที่มีอาการ MIS-C จากการติดเชื้อโควิด 19 มากกว่า 4,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 36 คน
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2021 สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (AHA) ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าอาการไม่พึ่งประสงค์ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้ผลกระทบจากโควิด 19 ในระยะยาว สามารถเกิดขึ้นทั้งต่อหัวใจ, สมอง, ระบบไหลเวียนโลหิต และอวัยวะภายในอื่นๆ
สาเหตุของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีทั้งจากการติดเชื้อไวรัส, ภาวะภูมิต้านตนเอง หรือจากการใช้ยาบางชนิด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในการศึกษาเมื่อปี 2016 พบว่ามีผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไม่ถึง 1% ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter