7 กรกฎาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Newtral (สเปน)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ข้อมูลเท็จ
บทสรุป:
- วารสารการแพทย์ The Lancet ยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ไม่ใช่สาเหตุการเกิดโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า
- ต้นเหตุการแพร่ระบาดในอินเดียมาจากปัญหาสุขอนามัยและการฉีดวัคซีนที่ไม่ทั่วถึง
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในอินเดีย โดยเนื้อหาอ้างว่านับตั้งแต่รัฐบาลอินเดียเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับประชาชน สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแต่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและการอุบัติของไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า (B.1.617.2) แสดงว่าสาเหตุทั้งหมดมาจากวัคซีนโควิด 19 พร้อมนำบทสัมภาษณ์ของ อมาเยีย ฟอร์เซส แพทย์หญิงชาวสเปนที่เคยทำงานในอินเดียมาสนับสนุนการกล่างอ้าง โดยอ้างว่าแพทย์หญิงให้ความเห็นว่ามีแต่ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 เท่านั้นที่ติดเชื้อโควิด 19
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
องค์การยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สเปน (AEMPS) ยืนยันว่าวัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านการตรวจสอบด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ไม่มีทางก่อให้เกิดโรคหรือแพร่เชื้อโควิด 19
AEMPS ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนโควิด 19 กับการเกิดไวรัสกลายพันธุ์ ไวรัสกลายพันธุ์เกิดจากการผ่าเหล่าทางพันธุกรรมของไวรัสที่แบ่งตัวในเซลล์ของมนุษย์ ดังนั้นการเกิดไวรัสกลายพันธุ์จึงไม่มีสาเหตุจากวัคซีนอย่างที่กล่าวอ้าง
ผู้โพสต์ยังทำการบิดเบือนความเห็นของแพทย์หญิง อมาเยีย ฟอร์เซส ให้เชื่อว่ามีแต่ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 เท่านั้นที่ติดเชื้อโควิด 19
ในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ Telecinco ของประเทศสเปนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2021 อมาเยีย ฟอร์เซส ผู้ทำงานเป็นแพทย์ในมหาวิทยาลัยของอินเดีย ทำการสำรวจสถิติการติดเชื้อของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเธอสังเกตว่าคนรอบข้างที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว กลับยังติดเชื้อโควิด 19 มากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงแนะนำว่าการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 โดส และไม่ละเลยการสวมหน้ากากอนามัย, การเว้นระยะห่าง และการล้างมือเป็นประจำ
แม้ อมาเยีย ฟอร์เซส จะยอมรับว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 โดสไม่รับประกันว่าจะไม่ติดเชื้อโควิด 19 แต่ไม่มีข้อความตอนไหนในบทสัมภาษณ์ที่เธอกล่าวว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทำให้ติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งตัวเธอเองก็เปิดเผยว่าเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 โดสแล้วเช่นกัน
แถลงการณ์ของสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2021 ระบุว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 10,000 คน จะมีเพียง 2 ถึง 4 คนเท่านั้นที่ติดเชื้อหลังจากได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ด้านสื่อท้องถิ่นในอินเดียรายงานผลสำรวจเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2021 พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 หลังจากได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้ว มีไม่ถึง 0.05%
BBC รายงานว่าแพทย์ในอินเดียมีความกังวลว่าการติดเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ย้ำว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
บทบรรณาธิการของวารสารการแพทย์ The Lancet ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2021 ยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าวัคซีนโควิด 19 เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศอินเดีย และไม่ใช่ปัจจัยที่นำไปสู่การอุบัติของไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า ในทางตรงกันข้าม อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่ไม่ทั่วถึงและการปราศจากข้อกำหนดด้านสุขอนามัยในอินเดีย คือสาเหตุที่ทำให้อินเดียต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างรุนแรงในในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Our World In Data เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2021 พบว่า มีประชาชนชาวอินเดียเพียง 4.7% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 โดส
แถลงการณ์ขององค์การ UNICEF เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2021 ระบุว่าทาง UNICEF เคยย้ำเตือนปัญหาการการ์ดตกในอินเดีย และปัญหาความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงวัคซีน, การตรวจหาเชื้อ และการรักษาพยาบาล ในประชากรกลุ่มชนชั้นล่างและชนชั้นกลางในอินเดีย ซึ่ง UNICEF กังวลว่า การแพร่ระบาดในขณะนี้อาจเป็นเพียงสัญญาณเริ่มต้นถึงสิ่งที่จะตามมาในอนาคต หากคำเตือนเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการใส่ใจ
อีกปัจจัยที่ทำให้การแพร่ระบาดของอินเดียเป็นไปอย่างแพร่หลาย คือการอุบัติของไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 ให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.newtral.es/vacunas-variante-india-covid-amaia-forces/20210519/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter