15 พฤษภาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที
บนสังคมออนไลน์แชร์ “กลั้วคอด้วยโพวิโดนไอโอดีน ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้” ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง”
บทสรุป : ไม่จริง และ ไม่ควรแชร์ต่อ
• ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ใช้สารโพวิโดนไอโอดีนกลั้วคอหรือพ่นคอ จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้
• การใช้สารดังกล่าว ควรเป็นไปตามข้อบ่งใช้ เช่น ใช้เมื่อมีอาการ และไม่ควรใช้บ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากได้
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกับ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์พิเศษ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) ยืนยันว่า ในการป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ไม่ควรใช้สารโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-iodine) กลั้วคอ หรือ พ่นคอ อย่างยิ่ง เพราะไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการกระทำนี้เป็นประโยชน์จริง และอาจส่งผลเสียทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากได้
โพวิโดนไอโอดีนและน้ำยาบ้วนปาก “ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือรักษาโควิด-19”
ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า บนเว็บไซต์ของผู้ผลิตโพวิโดนไอโอดีนและน้ำยาบ้วนปาก ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโพวิโดนไอโอดีนและน้ำยาบ้วนปากช่วยป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้” นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กลั้วคอหรือสเปรย์พ่นคอที่มีสารโพวิโดนไอโอดีน ก็ระบุไว้ด้วยว่า “ควรใช้บรรเทาอาการเจ็บคอเป็นครั้งคราวเท่านั้น” ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำที่แชร์กันว่า ต้องใช้ตลอดระยะเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น คำแนะนำที่แชร์กันจึงเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด หากปฏิบัติตามอาจเกิดอันตรายได้ เพราะสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการระคายเคืองเยื่อบุช่องปาก จึงไม่ควรใช้บ่อยเกินไป ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน และไม่ควรใช้ในความเข้มข้นที่แตกต่างจากคำแนะนำของผู้ผลิตโดยเด็ดขาด
พบการศึกษา “น้ำประปากลั้วคอ” ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ดีกว่า
ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวถึง การศึกษาวิจัยในประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับการใช้สารโพวิโดนไอโอดีนกลั้วคอเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นโรคไวรัสที่ติดต่อผ่านทางเดินหายใจเหมือนโรคโควิด-19 ผลการวิจัยพบว่า การใช้น้ำประปากลั้วคอช่วยป้องกันโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนได้ดีกว่าการใช้สารโพวิโดนไอโอดีนกลั้วคอ เนื่องจากน้ำประปาในญี่ปุ่นมีคลอรีนที่ช่วยทำลายเชื้อไวรัสโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนได้ ในขณะที่สารโพวิโดนไอโอดีนจะทำลายทั้งไวรัสและแบคทีเรียที่ดีในร่างกาย (Normal flora) ซึ่งจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี นอกจากนี้ โพวิโดนไอโอดีนยังมีฤทธิ์ในการระคายเคืองเยื่อบุของร่างกาย ทำให้เชื้อโรคบุกรุกได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น การใช้น้ำประปากลั้วคอ 20 วินาที วันละ 3-4 ครั้ง อาจมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ยังสามารถติดต่อผ่านทางจมูก ลำคอ หรือดวงตาได้ การทำความสะอาดเพียงจุดเดียวจึงไม่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนหรือโรคโควิด-19 ได้ ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ปิดจมูกอย่างมิดชิด และปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดด้วย
นอกจากนี้ สารโพวิโดนไอโอดีน น้ำยาบ้วนปาก และแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ จึงไม่ควรใช้สารเหล่านี้ล้างจมูก และยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าการล้างจมูกจะช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้
ไม่ควรสรุปว่าสิ่งที่ออกฤทธิ์ในหลอดทดลอง จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้จริง
ผศ.นพ.พิสนธิ์ อธิบายว่า แม้จะมีการศึกษาในหลอดทดลองที่พบว่า สารโพวิโดนไอโอดีนฆ่าเชื้อไวรัสให้ตายได้จริง แต่สิ่งใดก็ตามที่ออกฤทธิ์ต่อโควิด-19 ในหลอดทดลองเป็นเพียงความรู้เบื้องต้นเท่านั้น ไม่ควรสรุปว่าสามารถใช้ได้จริง ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนคือ ผ่านการทดลองในสัตว์ ผ่านการทดลองในมนุษย์ด้วยกระบวนการศึกษาวิจัยแบบสุ่มประชากร (Randomized) และมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ยังต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศนั้น ๆ อีกด้วย
บทสรุป : ไม่จริง และ ไม่ควรแชร์ต่อ
ไม่ควรป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการใช้สารโพวิโดนไอโอดีน (Povidone-iodine) กลั้วคอ หรือ พ่นคอ เพราะไม่อยู่ในข้อบ่งใช้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการกระทำนี้เป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคได้จริง และการใช้บ่อยเกินไป หรือนอกเหนือข้อบ่งใช้ อาจส่งผลเสียทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากได้
ข้อมูลอ้างอิง
Betadine > https://betadine.com/covid-19/
Listerine > https://www.listerine.com/covid-19-update
อ่านงานวิจัย > https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16242593/
🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter