12 พฤษภาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที
สืบหาต้นตอ เผยข้อเท็จจริง กรณีข่าวปลอม “สาวแพ้วัคซีน” ที่แพร่สะพัด สร้างความตื่นตระหนกบนหน้าสื่อ ไล่เรียงไทม์ไลน์ แท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร ?
บทสรุป : ข้อมูลโยงมั่ว ไม่ควรแชร์ต่อ
• ภาพและบทความ ไม่เกี่ยวข้องกัน
• ภาพ ถูกนำมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต มาจากจังหวัดลพบุรี ไม่ใช่จังหวัดอุดรธานี
• บทความ เป็นเรื่องราวที่เล่าโดยหญิงคนหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งแพทย์ยืนยันว่ามีความจริงเพียงบางส่วน และหายดีแล้ว
ข้อมูลที่ถูกแชร์
รูปภาพแขนและขาที่มีผื่นสีแดงจำนวนมาก ถูกแชร์มาพร้อมกับ บทความเล่าประสบการณ์ฉีดวัคซีนซิโนแวค ของหญิงสาวชาวอุดรธานี ขึ้นต้นข้อความว่า…
“ชิโนแวค มีปัญหาจริง ๆ เรื่องวัคซีนซิโนแวค ค่ะ ขออนุญาติ ใช้พื้นที่นี้แชร์ข้อมูล เพื่อเป็นข้อตัดสินใจ ในการฉีดซิโนแวค นะคะ ต้องบอกก่อนนะคะว่า side effect ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เกิดแค่กับบางคน หนูขออนุญาติแชร์เรื่องของหนู เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่ฉีดแล้วเกิดอาการ และกำลังตัดสินใจฉีดนะคะ…”
โดยใจความสำคัญคือ ตนเองได้ทำการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี หลังฉีดวัคซีนได้เพียง 3 นาที เริ่มมีอาการชาทั่วร่างกาย และมีอาการหายใจไม่สะดวก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ว่าอาการดังกล่าวจะหายเป็นปกติภายใน 72 ชั่วโมง ทางโรงพยาบาลจึงไม่ได้ทำการรักษาใด ๆ เพียงเฝ้าสังเกตอาการเท่านั้น เมื่อครบ 72 ชั่วโมง ตนเองยังคงมีอาการชาทั่วร่างกาย ทางโรงพยาบาลได้ทำการ CT Scan ผลออกมาเป็นปกติ แพทย์เข้าใจว่าไม่มีเลือดออกในสมองและให้กลับบ้านได้ แต่ตนเองมีเลือดออกในสมองจริง จึงปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร และได้รับยา Nimodepine ซึ่งเป็นยาลดภาวะเลือดออกในสมองมารับประทาน อาการจึงดีขึ้น
ข้อมูลชุดดังกล่าวถูกแชร์อย่างแพร่หลายบน Twitter, Facebook, Line และบนเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมทั้งมีผู้ส่งเรื่องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบพบว่า ภาพและบทความที่แชร์ไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด เป็นการแอบอ้างนำรูปภาพของบุคคลอื่นมาแชร์ร่วมกับบทความ ซึ่งแพทย์และบุคคลในบทความ ยืนยันว่า ขณะนี้มีอาการเป็นปกติดีแล้ว และไม่ได้มีเลือดออกในสมองอย่างที่มีการแชร์กัน
4 พ.ค. 2564 – เริ่มต้นจากบทความ “สาวอุดรแพ้วัคซีน”
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า เริ่มมีการเผยแพร่บทความเล่าประสบการณ์แพ้วัคซีนบน Facebook โดยที่ไม่พบว่ามีภาพแขนและขาที่มีผื่นสีแดงประกอบอยู่ด้วย เป็นเพียงบทความเล่าประสบการณ์เท่านั้น เช่น โพสต์ของ Chonthan Duangtar
7 พ.ค. 2564 – ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ได้รับบทความ
ต่อมาเริ่มมีการนำบทความดังกล่าว ไปเผยแพร่ต่อบนสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งบนเว็บไซต์, Twitter, Facebook และ Line ทำให้มีผู้ส่งเรื่องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
9 พ.ค. 2564 (21.24 น.) – เจ้าของภาพ ประกาศฟ้องร้องดำเนินคดี
บุคคลในภาพได้โพสต์ข้อความบน Facebook ส่วนตัวว่า ไม่อนุญาตให้มีการเผยแพร่รูปภาพของตนเองโดยเด็ดขาด ข้อมูลที่แชร์กันนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากตนเองยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้วัคซีน และจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายหากยังมีการนำไปเผยแพร่ต่อ
9 พ.ค. 2564 (21.46 น.) – ภาพแขนและขาที่มีผื่นสีแดง เผยแพร่กับข้อความอื่น
พบภาพแขนและขาที่มีผื่นสีแดงถูกเผยแพร่ร่วมกับข้อความระบุว่า “พยาบาล รพ.หนองม่วง แพ้วัคซีน” โดยเป็นการเผยแพร่บน Twitter อย่างไรก็ตามโพสต์ดังกล่าวถูกลบภายในวันเดียวกันนั้น
10 พ.ค. 2564 (10.22 น.) – ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ได้รับภาพ
ข้อความและรูปภาพดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ต่อใน Line โดยมีการเพิ่มเติมข้อมูลว่า “พยาบาล รพ.หนองม่วง ต.ลำคลอง อ.เมือง กฬสินธุ์ แพ้วัคซีนโควิด” และมีผู้ส่งเรื่องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ทั้งนี้ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่มี “โรงพยาบาลหนองม่วง” แต่มี “โรงเรียนบ้านหนองม่วง” ตำบลลำคลอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์
10 พ.ค. 2564 (13.27 น.) – โรงพยาบาลหนองม่วง ชี้แจง ตัวตนบุคคลในภาพ
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์จึงตรวจสอบไปที่โรงพยาบาลหนองม่วง ได้รับการยืนยันว่า เป็นภาพของบุคลากรในสังกัดจริง แต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นอาการแพ้วัคซีน และขณะนี้หายเป็นปกติแล้ว ทางโรงพยาบาลยังระบุด้วยว่า ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่
10 พ.ค. 2564 (14.00 น.) – แพทย์ยืนยันอาการเจ้าของบทความ “เป็นปกติแล้ว”
สำหรับเนื้อหาที่อยู่ในบทความ ซึ่งระบุว่า มีการอ้างถึงการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ที่จังหวัดอุดรธานี และพบอาการไม่พึงประสงค์ จากนั้นได้ติดต่อกับแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยที่บทความไม่ได้ระบุรายละเอียดของวันที่ฉีด หรือวันที่ปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงช่วงเวลาการฉีดวัคซีนที่จังหวัดอุดรธานี จากข้อมูลของกรมควบคุมโรครายงานว่า มีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 จึงคาดว่า หากเหตุการณ์ตามบทความเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นช่วงระหว่างวันที่ 23 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม 2564
พญ.พัชริดา กลิ่นพะยอม รองผู้อำนวยการศูนย์โอบอุ้ม-ดูแล-ห่วงใย หรือ โรงพยาบาลสนามจังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงระหว่างการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดอุดรธานี ประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยยืนยันว่า ข้อมูลที่แชร์กัน มีความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น
“หญิงสาวในบทความเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 และมีอาการชาทั่วร่างกายมากกว่า 72 ชั่วโมงจริง แต่ขณะนี้หญิงสาวคนดังกล่าวยืนยันว่าหายเป็นปกติแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำการเอกซเรย์สมองพบว่า ระบบประสาทและสมองเป็นปกติดีทุกประการ ดังนั้นที่บอกว่ามีอาการเลือดออกในสมองเล็กน้อยนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนการที่อ้างว่า แพทย์โรงพยาบาลอื่นให้ยา Nimodepine ทำให้รู้สึกดีขึ้น ยานี้มีสรรพคุณช่วยลดเลือดออกในสมอง ทำให้เส้นเลือดขดตัว ซึ่งหญิงสาวไม่มีอาการเลือดออกในสมอง การที่อาการดีขึ้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับยาที่ได้รับ แต่เป็นระยะเวลาที่สามารถดีขึ้นได้เองอยู่แล้ว” พญ.พัชริดา กล่าว
พญ.พัชริดา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค ทั่วประเทศยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาต สำหรับบุคคลที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค แล้วมาอาการชาร่างกายไม่มากนัก สามารถฉีดวัคซีนได้ตามปกติ
คำอธิบายของแพทย์ข้างต้น สอดคล้องกับประกาศจากสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย โดย พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ นายกสมาคมฯ ยืนยันว่า ผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 บางคน ที่มีอาการชาบางส่วนของร่างกาย หรือข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย หรือมีอาการอ่อนแรงเล็กน้อย ทำให้รู้สึกใช้งานได้ไม่เป็นปกตินั้น พบว่า ไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต) และตรวจไม่พบลิ่มเลือดอุดตันหรือเลือดออกในสมอง รวมทั้ง อาการดังกล่าวหายเองได้ ขณะที่อาการข้างเคียงทางระบบประสาทที่พบรุนแรง พบได้น้อยมากประมาณ 1-2 คน ต่อการฉีด 1 ล้านครั้ง และสามารถรักษาได้ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนทุกชนิด สามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ และส่วนใหญ่ไม่รุนแรง
10 พ.ค. 2564 (19.20 น.) – สาวอุดร ออกมาขอโทษ
นพ.ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.อุดรธานี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ในฐานะ “มิสเตอร์วัคซีน” ของจังหวัดอุดรธานี ได้โพสต์ข้อความ ที่เป็นคำขอโทษของหญิงสาวในบทความ ซึ่งชี้แจงว่า ตนไม่มีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความเป็นสาธารณะ เป็นการแบ่งปันในกลุ่มส่วนตัวเท่านั้น แต่มีผู้นำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่นอกกลุ่ม ทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลโดยที่ไม่ตรงตามจุดประสงค์ของตน
“ก่อนอื่นต้องขอโทษทุกคนก่อนนะคะ ที่ข้อความของหนูทำให้หลาย ๆ คน ไม่สบายใจ อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน และกังวลต่อการฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้ข้อความของหนูได้ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็วมาก จึงขออนุญาตชี้แจงดังต่อไปนี้ค่ะ
1. หนูไม่ได้มีเจตนาที่จะเผยแพร่ข้อความนี้เป็นสาธารณะ เหตุผลที่หนูเขียนข้อความนี้ในตอนแรก เพราะมีพี่ ๆ ที่สนิทสนมกันถามไถ่อาการมา และอยากให้เล่าเรื่องอาการหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งหนูได้เล่าลงในกลุ่มส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งการเข้ามาในกลุ่มนี้ต้องได้รับคำเชิญก่อน ไม่ใช่โพสต์สาธารณะอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจว่ามีการโพสต์ลงใน Facebook หนูจึงมีความบริสุทธิ์ใจที่จะเล่าอาการของตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์กับพี่ๆ น้องๆ ที่สนิทกันเท่านั้น ไม่คิดว่าจะมีการนำข้อมูลนี้ออกไปนอกกลุ่มและแชร์กันต่อ จนเกิดกรณีนี้ขึ้น
ตอนนี้หนูได้รับความเสียหายจากการแชร์ข้อมูลที่ได้ถูกนำออกไปด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ตัวอย่าง เช่น มีสำนักข่าวบางสำนักได้เผยแพร่ข้อมูลขอองหนู แต่รูปภาพประกอบไม่ใช่รูปของหนูโดยที่อาจจะไม่ทราบว่า ข้อมูลเหล่านั้นถูกนำออกมาอย่างไม่ได้รับความยินยอม หรือข้อมูลที่ถูกแชร์ไป บางเพจมีการเติมข้อความบางข้อความ เช่น วัคซีนยี่ห้อนี้มีปัญหาจริงๆ ซึ่งหนูไม่ได้พูด หรือมีการตัดข้อความบางข้อความออกไป คิดว่าต้องออกมาชี้แจงซึ่งได้มีการปรึกษาทนายไว้ด้วยค่ะ
2. หนูไม่ใช่คนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน เนื่องจากหนูยังมองเห็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีน หนูลงชื่อสมัครใจที่จะฉีดวัคซีนด้วยตนเอง หลังจากฉีดโดสแรกทุกอย่างผ่านไปด้วยดีทำให้มั่นใจที่จะฉีดโดสที่ 2 ขอไม่พูดถึงอาการทางคลินิกอีก และขอให้เรื่องอาการทางคลินิกเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญไปนะคะ จริง ๆ แล้วการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะฉีดยี่ห้อไหนขอให้เป็นวิจารณญาณของแต่ละท่าน
3. วัคซีนนี้ทุกคนรู้ว่ามันเป็นเรื่องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ไม่เชี่ยวชาญทุกคนจึงให้ความสนใจ การเกิดผลข้างเคียงก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนเลยคาดหวังว่ามากว่าจะมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีที่เกิดผลข้างเคียง การเกิดผลข้างเคียงไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน
4. ขอขอบคุณ คุณหมอทุก ๆ ท่าน ที่ได้ให้การรักษา ให้คำปรึกษากับหนู ให้ความช่วยเหลือ คิดว่าหลายท่านได้รับผลกระทบจากความที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นนี้ หนูได้ขอบคุณและขอโทษเป็นการส่วนตัวไปแล้วแต่ก็ขอพูดอีกทีไว้ตรงนี้ด้วยนะคะ”
ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท เผยแพร่เนื้อหาเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทความที่แชร์กัน โดยแบ่งเป็นประเด็นย่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
12 พ.ค. 2564 (19.20 น.) – รมว.ดีอีเอส สั่งฟ้องผู้เผยแพร่ข่าวปลอม และสื่อที่เกี่ยวข้อง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สั่งฟ้อง 3 บัญชี Facebook – Twitter รวมถึงสื่อที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นต้นตอเผยแพร่ข้อมูลเท็จ กรณีสาวอุดรฯ แพ้วัคซีน เข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
บทสรุป : โยงมั่ว ไม่ควรแชร์ต่อ
รูปภาพและบทความที่แชร์ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นการแอบอ้างนำรูปภาพของบุคคลอื่น มาแชร์ร่วมกับบทความของอีกบุคคลหนึ่ง การแชร์ต่อทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตื่นตระหนก และเสี่ยงถูกดำเนินคดีโดยผู้เสียหายได้
ข้อมูลอ้างอิง
ข้อมูลที่ถูกแชร์ : https://web.facebook.com/chontan2016/posts/1635255916668343
โพสต์เจ้าของภาพ : https://web.facebook.com/namaing.puangkrasin/posts/3994082677294562
ข่าวอุดร ข่าวโฮมเคเบิ้ล : https://fb.watch/5pRcA7JCw3/
โพสต์ขอโทษ : https://web.facebook.com/toto.srikulwong/posts/3429186200515795
รมว.ดีอีเอส สั่งฟ้อง : https://web.facebook.com/prmdes.official/posts/1191459697955761
🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter