วุ้นในตาเสื่อมเกิดจากสาเหตุใด อาการเป็นอย่างไร มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานวิชาการ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ในลูกตาของคนเรามีกระจกตาดำอยู่ด้านหน้า ด้านในถูกเติมเต็มด้วยน้ำวุ้นลูกตา หรือที่คนทั่วไปคุ้นเคยกับคำว่า วุ้นตา (Vitreous) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของลูกตา มีลักษณะเหลวคล้ายไข่ขาวที่ยึดติดกับผิวของจอตา
วุ้นตามีมาตั้งแต่เกิด เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่ง หรือเข้าสู่วัยกลางคนวุ้นตาจะเสื่อม มีลักษณะเหลวเป็นน้ำ หดตัวและลอกตัวจากจอตา อาจเกิดตะกอนวุ้นตา (Floaters) ลอยขึ้นมาในวุ้นตาได้ ที่เรียกกันว่าวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)
วุ้นตาเสื่อม เกิดขึ้นกับคนกลุ่มไหน ?
วุ้นตาเสื่อมไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น วัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น อายุ 20 กว่าก็มีวุ้นตาเสื่อม หรือตะกอนในวุ้นลูกตาได้
“วุ้นตาเสื่อม” เป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกคน แต่มีโอกาสพบได้มากคือคนที่มีภาวะสายตาสั้นมาก ๆ และลูกตาเคยถูกกระแทกอย่างรุนแรง รวมถึงคนที่เคยผ่าตัดต้อกระจก
ในคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจกระทบถึงดวงตาได้ เช่น เบาหวานขึ้นตาก็ทำให้เกิดตะกอนได้ หรือมีวุ้นตาเสื่อมได้เร็วกว่าคนปกติทั่วไป
สาเหตุ และอาการ “วุ้นตาเสื่อม” เป็นอย่างไร ?
โดยทั่วไป อาการวุ้นตาเสื่อมหรือมีตะกอนในวุ้นลูกตา ผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์เพราะมองเห็นจุดดำ ๆ หรือมีหยากไย่ลอยไปลอยมาบางเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองบนพื้นเรียบ ๆ ผนังสีขาว มองกระดาษ หรือแม้แต่กำลังดื่มน้ำ จะรู้สึกเหมือนมีจุดลอยอยู่ในน้ำซึ่งเป็นที่วุ้นลูกตา จุดนี้ลอยขึ้นมาอยู่ในแนวแสงที่เข้าไปในลูกตา ทำให้รู้สึกเหมือนมองเห็นอะไรสักอย่างลอยไปลอยมา
“วุ้นตาเสื่อม” นอกจากมองเห็นจุดหยากไย่แล้ว บางครั้งมีตะกอนลอยใกล้ผนังจอประสาทตาที่อยู่ด้านใน ซึ่งอาจไปดึงหรือกระชากจอประสาทตา ทำให้ดูคล้ายนั่งอยู่ในห้องมืดแล้วมีคนเปิดแฟลชกล้องถ่ายรูปเข้าตา ทางการแพทย์เรียกว่า แฟลชชิ่ง (Flashing)
การมีแฟลชชิ่ง แสดงว่าเริ่มมีความเสี่ยงเกิดอันตรายกับดวงตา มีการดึงจอประสาทตา ถ้าจอประสาทตาฉีกขาดหรือหลุดลอกก็อาจเป็นต้นเหตุของภาวะตาบอดได้
การรักษาภาวะวุ้นตาเสื่อม อย่างไร ?
ทางการแพทย์เคยมีความพยายามยิงเลเซอร์ให้ตะกอนในวุ้นตาแตกสลายไป พบว่ายังได้ผลไม่ดีมากนัก
ปัจจุบัน ถ้ามองเห็นจุดลอยไปลอยมา หรือแฟลชชิ่ง เมื่อตรวจตาแล้วไม่พบความผิดปกติอื่น ๆ มักจะแนะนำให้สังเกตอาการและนัดตรวจจอประสาทตาเป็นระยะ ในช่วงแรกทุก 2-3 เดือนจนกว่าอาการจะหายไป
รวมถึงวิตามินต่าง ๆ ที่โฆษณากันบนสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือรักษาภาวะนี้แต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อความสบายใจก็ควรไปเล่าอาการให้จักษุแพทย์ฟัง และตรวจจอประสาทตา จะช่วยลดความกังวลได้
ถ้ามีเพียงอาการเห็นจุดลอยไปลอยมา พบว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ไม่เกิน 1-3 เปอร์เซ็นต์ที่ผนังจอประสาทตาฉีกขาด
กรณีเห็นจุดลอยไปลอยมาร่วมกับมีฟ้าแลบบ่อย ๆ อาจจะมีความเสี่ยงเกิดจอประสาทตาฉีกขาดสูง 5-10 เปอร์เซ็นต์
ถ้าจอประสาทตาฉีก ขาด แพทย์จะใช้เลเซอร์ปิดรอยฉีก เพื่อป้องกันภาวะจอประสาทตาลอกที่เป็นสาเหตุของการเกิดตาบอดถาวรได้
รักษาอาการผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่ม จะช่วยหยุดไม่ให้เกิดอาการที่ร้ายแรงมากขึ้นได้
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : วุ้นในตาเสื่อม
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter