ความดันเลือดสูง (Hypertension) ตรวจพบได้จากการวัดความดันเลือด เป็นโรคที่คนทั่วไปเรียกสั้น ๆ ว่า “โรคความดัน” หมายถึงมีค่าความดันเลือดสูงกว่าปกติ (เท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มม.ปรอท) ซึ่งในภาวะปกติระดับความดันเลือดควรจะน้อยกว่า 120/80 มม.ปรอท
ค่าความดันเลือด คืออะไร ?
การทำงานของหัวใจเพื่อให้ส่งเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้น หัวใจจะต้องบีบตัวขับเลือดออกไป และคลายตัวเพื่อรับเลือดเข้ามาในหัวใจ จึงเกิดการบีบสลับกับการคลายตัวของหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การบีบสลับการคลายตัวของหัวใจจึงปรากฏตัวเลข “ค่าความดันเลือดตัวบน” และ “ค่าความดันเลือดตัวล่าง”
1. ความดันเลือดตัวบน (Systolic blood pressure : SBP)ความดันเลือดในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะหัวใจบีบตัว
2. ความดันเลือดตัวล่าง (Diastolic blood pressure : DBP) ค่าความดันของเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว
“ค่าความดันเลือดปกติที่เหมาะสม” คือ ตัวบนไม่เกิน 120 มม.ปรอท และตัวล่างไม่เกิน 80 มม.ปรอท มีค่าความดันที่ควรให้ความสนใจ ดังนี้
ความดันเลือดปกติ คือ 120-129 และ/หรือ 80-84
ความดันเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่เป็นโรคความดันเลือดสูง 130-139 และ/หรือ 85-89
โรคความดันเลือดสูง ระดับที่ 1 คือ 140-159 และ/หรือ 90-99
โรคความดันเลือดสูง ระดับที่ 2 คือ 160-179 และ/หรือ 100-109
โรคความดันเลือดสูง ระดับที่ 3 มากกว่าหรือเท่ากับ 180 และ/หรือ มากกว่าหรือเท่ากับ 100
ดังนั้น การวัดค่าความดันเลือดเพียงครั้งเดียวยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง แพทย์จะต้องให้นั่งพักประมาณ 5-10 นาที จนหายเหนื่อยแล้ววัดความดันเลือด จำเป็นต้องวัดซ้ำ 2-3 ครั้ง เพราะมีปัจจัยหลายอย่างกระทบค่าความดันเลือดได้ง่าย เช่น ความเหนื่อย ความเครียด วิตกกังวล อดหลับอดนอน
คนส่วนใหญ่ “ไม่รู้ตัว” ว่าเป็นโรคความดันเลือดสูง ?
พบผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่ามีความดันเลือดสูง แต่มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้ป่วยความดันเลือดสูงเท่านั้นที่รู้ตัว
นอกจากนี้ ผู้ที่รู้ตัวและเข้ารับการรักษาโรคความดันเลือดสูงนี้ สามารถควบคุมระดับความดันเลือดให้กลับมาเป็นปกติได้เพียงครึ่งหนึ่งของผู้ที่รักษาทั้งหมด
ถ้าระดับความดันเลือดสูงอยู่เป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้แย่ลง และเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ตา และไต เป็นต้น ทำให้เกิดโรคไตวายได้ หรืออาจทำให้เกิดการตีบตันหรือแตกของหลอดเลือด มีเลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต หรือเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอเป็นโรคหลอดเลือดของหัวใจตีบตัน
เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นโรคความดันเลือดสูง จึงควรดูแลรักษาควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ (ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท)
การดูแลและรักษาโรคความดันเลือดสูง ?
ทางเลือกการดูแลรักษาโรคความดันเลือดสูง แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ควบคุมความดันเลือดด้วยการใช้ยา และเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (ไม่ใช้ยา)
ยารักษาโรคความดันเลือดสูง มีหลายชนิด หลายกลุ่ม การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน โดยได้รับการสั่งจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือกินยาตามเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน แต่สภาวะของโรคและระดับความรุนแรงก็แตกต่างกัน
ผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงควรกินยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคกลับมาลุกลามและอันตรายได้
นอกจากนี้ ถ้าใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่ด้วย หรือใช้สมุนไพร แพทย์ทางเลือก ควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลโรคนี้ทราบด้วย เพราะยาเหล่านี้อาจต้านฤทธิ์หรือเสริมฤทธิ์กัน ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา หรืออาจทำให้ระดับยาในร่างกายสูงขึ้นจนเกิดพิษได้
เปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ คือการรักษาโรคความดันเลือดสูงโดยไม่ใช้ยา
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง มีความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนกว่าการใช้ยา รวมทั้งยังช่วยเสริมฤทธิ์ของยาในการควบคุมความดันเลือดอย่างได้ผลดีอีกด้วย ซึ่งมีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้
1. ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตาม ในทางตรงกันข้ามถ้าน้ำหนักตัวลดลง จะส่งผลดีช่วยลดระดับความดันเลือดได้ด้วย
2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การออกกำลังกายแอโรบิกอย่างเหมาะสม (อย่าหักโหม) นานครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน จะช่วยเผาผลาญไขมัน ลดน้ำหนัก ลดความเครียด ลดความดันเลือดได้อย่างดี
3. ลดปริมาณเกลือในอาหาร กินอาหารปกติ ไม่เค็มจัด หลีกเลี่ยงการเติมเกลือ น้ำปลาหรือซอสปรุงรสเพิ่มเติม
4. เลิกบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่เป็นอันตรายระยะยาวทั้งต่อปอด หัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงบุหรี่มือสองจากการสูบบุหรี่ของคนใกล้ตัวด้วย
5. ทำจิตใจให้แจ่มใส อย่าเครียดหรืออดนอน เรื่องจิตใจและอารมณ์เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต
การปฏิบัติตัวเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสภาวะของการมีระดับความดันเลือดสูงขั้นต้น แต่ทุกคนควรปฏิบัติลักษณะนี้
“พฤติกรรมสุขภาพ” เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องลงมือทำด้วยตนเองด้วยการสนับสนุนจากคนใกล้ตัว ทำอย่างถูกต้องและต่อเนื่องย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1. https://ddc.moph.go.th/dncd/
2. https://www.doctor.or.th/article/detail/1776
3. https://www.thaihypertension.org/hypertensiondetail.php?n_id=296
4. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/hypertension
18 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ความดันโลหิตมาตรฐานคือ 150/90 สำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter