บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์คลิปพร้อมข้อความว่า เหลือเชื่อ “น้ำใบโหระพา” ช่วยลดความดัน เบาหวาน ได้เชิงประจักษ์ ช่วยให้ผู้ป่วยสุขภาพดีขึ้น จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ดร.ภกญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
การใช้ “ใบโหระพา” ลดน้ำตาล ยังมีคำถามอีกหลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลเท่าไหร่ กินยาแผนปัจจุบันด้วยหรือไม่ การควบคุมอาหารเป็นอย่างไร เพราะโรคเบาหวานมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด
องค์ความรู้พื้นบ้านมีบันทึกเรื่องโหระพาไว้ด้วย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก ๆ
มีการศึกษาวิจัยนำใบโหระพามาต้ม น่าจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ปัจจัยการเกิดน้ำตาลในเลือดสูงของคนมีความแตกต่างจากในสัตว์ทดลอง
ใครที่คิดจะใช้น้ำใบโหระพาเพื่อลดน้ำตาลในเลือดก็ต้องสังเกตอาการตัวเองว่า หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ด้วยหรือไม่ เพราะจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
แพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรอะไร รักษาโรคเบาหวาน ?
“เบาหวาน” รักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาส “หยุดใช้ยาได้ ถ้าน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ”
ผู้ป่วยเบาหวาน มีความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ถ้าสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาสมุนไพร
ในผู้ป่วยเบาหวานที่คิดว่าจะใช้ยาสมุนไพร ควรพิจารณาข้อจำกัด ผลที่อาจเกิดจากการใช้สมุนไพร ดังต่อไปนี้
1. การใช้สมุนไพรยังมีข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัย ซึ่งบางครั้งไปเสริมฤทธิ์ยาแผนปัจจุบันจะยิ่งทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากกว่าปกติ อาจจะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานช็อก น็อก วิงเวียน หน้ามืด และเป็นลมได้
2. สมุนไพรที่กินเข้าไปอาจจะส่งผลต่อตับ ไต หรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
3. ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ แต่ต้องการใช้สมุนไพรเสริมการรักษา จะต้องหาข้อมูลสมุนไพรที่มีความปลอดภัย และน่าจะมีประสิทธิผลลดน้ำตาลในเลือดได้
4. ยังไม่มีการศึกษาวิจัย “โหระพา” ที่มากเพียงพอสำหรับการนำมาใช้เสริมเพื่อการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน
5. สมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้กับผู้ป่วยเบาหวานก็คือ มะระขี้นก แต่ยังต้องทำการศึกษาวิจัยอีกระยะหนึ่ง
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
“โหระพา” อาจจะไม่มีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทุกราย แต่วิธีการที่น่าจะได้ผลมากกว่าในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนอกเหนือจากการใช้ยา ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ใช้เวลาศึกษาวิจัย 2 ปี พบว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำให้ผู้ป่วยห่างไกลจากการพัฒนาไปเป็นเบาหวานได้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่
1. ออกกำลังกายที่สอดคล้องกับสภาพร่างกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
2. กินอาหารที่มีกากใยสูง (ข้าวกล้อง ผักและผลไม้)
3. กินผักและผลไม้ปริมาณมาก (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน)
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต่างหากที่ทำให้คนเราห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs : non-communicable diseases)
“ความดันเลือดสูง” ดูแลตนเองได้หรือไม่ ?
ความดันเลือดสูง (Hypertension) เป็นโรคที่ตรวจพบได้จากการวัดความดันเลือด
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ว่าคนที่มีความดันเลือดวัดได้มากกว่า 140/90 มม.ปรอท ถือว่าเป็น “โรคความดันเลือดสูง” แต่คนส่วนใหญ่ที่มีความดันเลือดสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค
การควบคุมความดันเลือดให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
ยารักษาโรคความดันเลือดสูงมีหลายชนิด หลายกลุ่ม แนวทางการเลือกใช้ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาสั่งจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือตามแบบเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก ถึง แม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน แต่สภาวะของโรคและระดับความรุนแรงก็แตกต่างกัน จึงไม่ควรใช้ยาตามอย่างผู้อื่นโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
ในการใช้ยารักษาโรคความดันเลือดสูง ควรกินยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคกลับมาลุกลามและอันตรายได้
นอกจากนี้ ถ้าใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่ด้วย (ใช้สมุนไพร และ/หรือ แพทย์ทางเลือก) ควรแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบด้วย เพราะยาเหล่านี้อาจต้านฤทธิ์ และ/หรือ เสริมฤทธิ์กัน ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา หรืออาจทำให้ระดับยาในร่างกายสูงขึ้นจนเกิดพิษได้
การเปลี่ยน “พฤติกรรมสุขภาพ” ลดปัญหาจากโรคความดันเลือดสูง
“การดูแลตัวเอง” ของผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงมีความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนกว่าการใช้ยา รวมทั้งยังช่วยเสริมฤทธิ์ของยาในการควบคุมความดันเลือดอย่างได้ผลดีอีกด้วย ดังนี้
1. ลดน้ำหนัก (ถ้าอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์)ขั้นแรกอย่าให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะถ้าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ความดันเลือดจะเพิ่มสูงขึ้นตาม ในทางตรงกันข้ามถ้าน้ำหนักตัวลดลง จะส่งผลดีช่วยลดระดับความดันเลือดได้ด้วย
2. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม นานครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง จะช่วยเผาผลาญไขมัน ลดน้ำหนัก ช่วยลดความดันเลือด ช่วยผ่อนคลายได้อย่างดี
3. ลดปริมาณเกลือ (โซเดียม) ในอาหารลง กินอาหารปกติ ไม่เค็มจัด ลดการเติมเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรส
4. งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด บุหรี่เป็นอันตรายระยะยาวทั้งต่อปอด หัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงบุหรี่มือสอง หรือการสูบบุหรี่ของคนใกล้ชิดด้วย ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์) ถ้าหยุดได้ดีที่สุด
“การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” เป็นการพึ่งตนเอง ของทั้งผู้ป่วย “เบาหวาน” และ “ความดันเลือดสูง” อยู่ที่ว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “ก่อนเป็นผู้ป่วย” หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “หลังจากป่วยเป็นโรค” แล้ว
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : น้ำใบโหระพาลดความดัน เบาหวาน จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter