บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์แนะนำวิธีแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ให้ประคบร้อน ยิ่งร้อนยิ่งดี เพราะความร้อนจะลงไปได้ลึกขึ้น จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ นายกสภากายบำบัด
การใช้ “ความร้อนประคบ” ถือว่าเป็นวิธีการลดอาการปวดอย่างหนึ่ง บริเวณไหนที่รู้สึกร้อนความปวดก็จะน้อยลง
ที่บอกว่า “ยิ่งร้อน ยิ่งดี” ไม่จริง เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังพุพองขณะประคบร้อน
การประคบร้อน ช่วยแก้ปวดได้อย่างไร ?
การประคบร้อนเป็นวิธีทางกายภาพบำบัดวิธีหนึ่ง ทำให้เลือดมีการไหลเวียนได้มากขึ้น
การไหลเวียนเลือดที่มากขึ้น เป็นการนำพาของเสียที่อยู่ภายในกล้ามเนื้อออกไป อาการปวดก็จะลดลง
ความร้อนจึงมีประโยชน์กับร่างกาย 2 ทาง ได้แก่
1. ลดอาการปวด
2. ทำให้การไหลเวียนเลือดมากขึ้น
การประคบร้อน “ยิ่งร้อน ยิ่งดี” ความร้อนจะลงไปได้ลึกมากขึ้น จริงหรือไม่ ?
“ยิ่งร้อน” ดี แต่เมื่อเลยจุดหนึ่งไปแล้วจะไม่ดีกับคนที่ถูกประคบ
ถ้าความร้อนจากข้างนอก (บริเวณผิวหนัง) มีมาก ความร้อนจากข้างนอกจะมีการถ่ายเทเข้าไปข้างในจนกว่าข้างในจะมีอุณหภูมิเท่ากับข้างนอก
ดังนั้น ถ้าข้างนอกร้อนมากเท่าไหร่ อุณหภูมิ (ความร้อน) ก็จะยิ่งถ่ายเทเข้าไปข้างในมากเท่านั้น หมายความว่าถ้าข้างนอกร้อนมากเกินไปก็จะทำให้ผิวหนังไหม้ เกิดแผลพุพองเป็นอันตรายได้
สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสม แนะนำว่า แผ่นประคบร้อน หรือกระเป๋าน้ำร้อน ควรมีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียสก็พอ (จะมากหรือน้อยกว่า 50 องศาเซลเซียสนิดหน่อยก็ได้)
ถ้าหากนำแผ่นประคบร้อน (อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส) วางบนผิวหนัง ความร้อนที่ 50 องศาเซลเซียสจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่ด้านใน แต่ผิวหนังไม่ไหม้ ซึ่งจะปลอดภัยกับร่างกายของผู้ใช้งาน
กรณีแผ่นประคบร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อนมีอุณหภูมิสูง แนะนำให้ใช้ผ้าขนหนูห่อ 1 ชั้น ก็จะช่วยลดความร้อนลงมาได้ และวางอุปกรณ์นี้ลงบริเวณที่รู้สึกปวดเมื่อย ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที
ขณะประคบร้อน ถ้ารู้สึกว่า “ร้อนมากบริเวณผิวหนัง” ต้องนำอุปกรณ์ประคบออกทันที อย่าคิดว่า “ยิ่งร้อนยิ่งดี” ถ้ายังปล่อยทิ้งไว้ผิวหนังบริเวณนั้นก็จะได้รับอันตราย (เป็นแผลไหม้ พุพองได้)
อาการปวดเมื่อยชนิดไหน ที่ประคบร้อน ช่วยบรรเทาได้ ?
อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่กรณีที่แนะนำให้ใช้ประคบร้อนก็คือ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เกิดจากการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือใช้แรงมาก ๆ วันรุ่งขึ้นมีอาการปวดเมื่อยมาก เป็นเพราะกล้ามเนื้อถูกใช้งานมากจนเกิดอาการเกร็งและมีของเสียสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ ลักษณะนี้ใช้การประคบร้อนได้ดี
มีหลายกรณีที่อาการปวดคล้าย ๆ กัน แต่ไม่สามารถใช้การประคบร้อนได้ เช่น ร่างกายกระแทกของแข็งจนเกิดอาการช้ำ และบริเวณที่บาดเจ็บมีการฉีกขาดของหลอดเลือด อาการนี้ใช้ความร้อนประคบไม่เกิดผลดีกับร่างกาย เพราะจะยิ่งทำให้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น
ที่ผ่านมาพบว่ามีการเกร็งของกล้ามเนื้อและเกิดอาการปวดขึ้นมา โดยสาเหตุการเกร็งเกิดจากปัญหาข้อต่อ หมอนรองกระดูก หรือเอ็นข้อต่อ ถ้าไปแก้ไขที่กล้ามเนื้ออย่างเดียวไม่ได้ผลเพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขที่สาเหตุอย่างแท้จริง จะต้องไปพบแพทย์ออร์โทปิดิกส์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ตรวจร่างกายอย่างละเอียดว่าที่ปวดกล้ามเนื้อเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
ใครก็ตาม ที่ปวดเมื่อยและต้องการบรรเทาด้วยการประคบร้อน มีข้อแนะนำว่าถ้าประคบร้อน 2-3 วัน (วันละ 2 รอบ เช้าและเย็น) อาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ไม่แนะนำให้ใช้การประคบร้อนด้วยอุณหภูมิที่สูงมากขึ้น และ/หรือ แต่ละครั้งใช้เวลาประคบนานขึ้น แสดงว่าการประคบร้อนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้น
ทุกแนวทางล้วนมีขีดจำกัด ควรปฏิบัติด้วยแนวทางที่เข้าใจ และระมัดระวัง
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ชัวร์ก่อนแชร์ : ประคบร้อน ยิ่งร้อนยิ่งดี จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter