22 พฤษภาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่สื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศ โดยกล่าวหาว่าวัคซีน mRNA คือสาเหตุของการป่วยเป็นมะเร็ง หลังมีงานวิจัยที่พบการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น หลังการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3
บทสรุป :
- เป็นการอ้างงานวิจัยที่มีหนึ่งในทีมงานเป็นผู้ต่อต้านวัคซีน และเผยแพร่ผ่านวารสารที่มีปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพงานวิจัย
- ผู้วิจัยไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนของผู้เสียชีวิต จึงไม่สามารถระบุได้ว่าการตายจากมะเร็งที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะวัคซีนหรือไม่
- ปัจจัยที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเพิ่มขึ้น เป็นเพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งกลับมาปกติหลังหยุดไปในช่วงล็อกดาวน์
- อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางยุค 2000’s ปัจจัยจากการขยายตัวของสังคมสูงวัย จึงพบผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
งานวิจัยอื้อฉาว
งานวิจัยที่กลายเป็นประเด็นโต้เถียงมีชื่อว่า Increased Age-Adjusted Cancer Mortality After the Third mRNA-Lipid Nanoparticle Vaccine Dose During the COVID-19 Pandemic in Japan โดย มิกิ จิโบ และคณะ ตีพิมพ์ทางวารสารการแพทย์ Cureus เมื่อเดือนเมษายน 2024
โดยทีมวิจัยสรุปว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข็มที่ 3 ในประเทศญี่ปุ่น
ข้อมูลดังกล่าว ถูกผู้มีแนวคิดต่อต้านวัคซีนนำไปแชร์ทางโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทั้ง อเล็กซ์ โจนส์ ผู้เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด และ ปีเตอร์ แม็คคัลลาห์ แพทย์โรคหลอดเลือดหัวใจและมีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีน โดยเน้นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเข็มของวัคซีนโควิด-19 ทั้ง มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งเต้านม รวมถึงภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองและหัวใจตีบ ลิ่มเลือดอุดตัน และปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบโดย Fact Checker และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายรายต่างยืนยันว่า ข้ออ้างเกี่ยวกับอันตรายจากวัคซีน mRNA มาจากการตีความงานวิจัยที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากงานวิจัยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA
ประวัติต่อต้านวัคซีนในสมาชิกทีมวิจัย
จากการตรวจสอบพบว่า หนึ่งในทีมวิจัยได้แก่ มาซาโนริ ฟูกูชิมะ แพทย์ชาวญี่ปุ่นผู้มีประวัติโจมตีวัคซีนโควิด-19 ด้วยข้อมูลเท็จ จน ทาโร โคโนะ อดีตหัวหน้าคณะกรรมการกำหนดนโยบายวัคซีนแห่งชาติญี่ปุ่น เคยประณามผ่านทาง X(Twitter) ว่าเขาคือ “ผู้ปลุกปั่นความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับวัคซีน”
วีรกรรมของ มาซาโนริ ฟูกูชิมะ คือการเรียกร้องเมื่อช่วงต้นปี 2023 ให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 หลังพบอัตราการตายส่วนเกินในประเทศมากผิดปกติ แต่ภายหลังมีการยืนยันจากหน่วยงานสาธารณสุขของญี่ปุ่นว่า ไม่พบว่าการเสียชีวิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนข่าวลือที่อ้างว่ารัฐบาลญี่ปุ่นทำการสอบสวนความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
วารสารการแพทย์เจ้าปัญหา
แม้จะเป็นวารสารการแพทย์ที่ตีพิมพ์งานวิจัยที่ผ่านการ Peer-Reviewed หรือการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการแล้ว แต่ Cureus ถือเป็นวารสารการแพทย์ที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือในงานวิจัยที่ตีพิมพ์บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นวารสารที่เน้นความเร็วในการตีพิมพ์งานวิจัย โดยพบว่ามีเวลาตรวจสอบงานวิจัยก่อนการตีพิมพ์ในเวลาเพียงไม่กี่วัน ถือว่าใช้เวลาน้อยกว่าวารสารวิชาการอื่น ๆ อย่างมาก
วารสารยังมีนโนบาย Post-Publication Peer Review หรือการตีพิมพ์งานวิจัยก่อน แล้วให้ผู้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ร่วมกันตรวจสอบความถูกต้องหลังการตีพิมพ์ทีหลัง
กระบวนการดังกล่าว ส่งผลในงานวิจัยของ Cureus ถูกถอนการตีพิมพ์บ่อยครั้ง โดยเดือนมกราคม 2024 มีงานวิจัยของ Cureus ถึง 56 ชิ้นที่ถูกถอดถอนหลังการตีพิมพ์
นอกจากนี้ Cureus ยังถูกโจมตีเรื่องการนำงานวิจัยที่ถูกถอดถอนการตีพิมพ์จากวารสารอื่นมาตีพิมพ์ในวารสารของตนเอง แม้จะเป็นงานวิจัยที่ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดจริยธรรมทางการแพทย์และสิทธิมนุษยชนก็ตาม
งานวิจัยไม่สามารถยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนกับมะเร็ง
สาเหตุที่งานวิจัยของ มิกิ จิโบ และคณะ ไม่สามารถใช้ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนโควิด-19 กับการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งได้ เนื่องจากเป็นการนำเสนอข้อมูลสถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ไม่ได้มีการทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลลัพธ์แต่อย่างใด
ในงานวิจัยมีการนำเสนอข้อมูลเส้นกราฟที่พบการเพิ่มขึ้นของยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ในช่วงเดียวกับที่มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตรงกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปได้ว่า สาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มาจากวัคซีนหรือจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น
ไม่มีการแบ่งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
การจะยืนยันได้ว่า การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นมาจากวัคซีนหรือไม่ จำเป็นต้องพิสูจน์ด้วยการแบ่งกลุ่มตัวอย่าง เป็นกลุ่มทดลอง (จำนวนผู้เสียชีวิตที่ฉีดวัคซีน) และกลุ่มควบคุม (จำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่ฉีดวัคซีน) จึงสามารถเปรียบเทียบได้ว่า การเสียชีวิตเกิดขึ้นกับกลุ่มใดมากกว่ากัน
อย่างไรก็ดี งานวิจัยของ มิกิ จิโบ และคณะ ไม่มีการระบุสถานะการฉีดวัคซีน เท่ากับว่าเป็นงานวิจัยที่มีการแบ่งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมตั้งแต่แรก จึงไม่อาจสรุปได้ว่า ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งมีสาเหตุจากการฉีดวัคซีนหรือไม่
ชาวญี่ปุ่นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพียง 2 ใน 3
ข้อมูลเมื่อเดือนเมษายนของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า มีชาวญี่ปุ่นฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 1 เข็มประมาณ 80.4% ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มประมาณ 79.5% และมีสัดส่วนประชากรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มเพียง 67% ดังนั้นจึงมีประชากรญี่ปุ่นอีกถึง 1 ใน 3 ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่อ้างว่าเกิดจากวัคซีน จึงอาจไม่เกี่ยวกับประชากรกลุ่มดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย
ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี
ขณะที่ มิกิ จิโบ และคณะ เน้นจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งในช่วงปี 2020-2022 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างแพร่หลาย
แต่หากย้อนไปก่อนหน้านั้น การเสียชีวิตจากมะเร็งในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 1995-2014 ก่อนจะกลับมาเพิ่มอีกครั้งในปี 2019 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการผลิตวัคซีนโควิด-19
นอกจากนี้ มะเร็งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1981 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
ซึ่งการวิจัยเมื่อปี 2023 ประเมินว่า อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งของชาวญี่ปุ่นระหว่างปี 2020-2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 13.1%
ส่วนปัจจัยที่ทำให้พบชาวญี่ปุ่นป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้นทุกปี มาจากการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ
มาร์ค เฟลด์โฮน ศาสตราจารย์ด้านระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ศึกษาสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศญี่ปุ่น อธิบายว่า ปัจจุบัน 30% ของประชากรชาวญี่ปุ่นมีอายุมากกว่า 65 ปี และ 10% มีอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งอัตราการพบโรคมะเร็งจะแปรผันตามอายุที่มากขึ้น การพบผู้ป่วยโรคมะเร็งในสังคมญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องที่เกินคาด
ข้อจำกัดของงานวิจัย
มิกิ จิโบ และคณะ ยังได้ระบุถึงข้อจำกัดของงานวิจัย จากการรวบรวมข้อมูลสถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ซึ่งรวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แห่ง โดยยังไม่ผ่านกระบวนการพิสูจน์ผลในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาในรูปแบบสถิติเชิงวิเคราะห์ (Analytical Statistics) โดยระบุสถานะการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรในอนาคต
นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของวารสาร Cureus ยังมีแพทย์และนักวิจัยเข้ามาแสดงความเห็นต่อผลงานของมิกิ จิโบ และคณะอย่างหลากหลาย ทั้งรายที่สนับสนุนความพยายามของทีมวิจัย รายที่พบจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข และรายที่ไม่เห็นว่างานวิจัยให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อวงการสาธารณสุขแต่อย่างใด
ไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนโควิด-19 คือสาเหตุของโรคมะเร็ง
มารี ฟอน ลิเลียนเฟลด์-โทล สมาชิกของสมาคมโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยาแห่งชาติเยอรมนี (German Society for Hematology and Medical Oncology : DGHO) ยืนยันว่า ที่ผ่านมายังไม่พบหลักฐานว่า วัคซีนโควิด-19 คือสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้นหรือกระตุ้นให้มะเร็งกลับมากำเริบ นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนอย่างยิ่ง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://dpa-factchecking.com/luxembourg/240426-99-821706/
https://www.techarp.com/science/japan-mrna-cancer-deaths-facts/
https://leadstories.com/hoax-alert/2024/04/fact-check-japan-declares-emergency-over-explosion-of-mrna-cancers.html
https://www.cureus.com/articles/196275-increased-age-adjusted-cancer-mortality-after-the-third-mrna-lipid-nanoparticle-vaccine-dose-during-the-covid-19-pandemic-in-japan#!/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter