ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อโรคพาร์กินสันได้มีอะไรบ้าง และจะมีวิธีการป้องกันอย่างไร
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
โรคพาร์กินสันมีสาเหตุที่หลากหลาย เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มารวมกันพอเหมาะพอดี
เวลามอง “ปัจจัยเสี่ยง” มีปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ กับปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้
ปัจจัยเสี่ยงแก้ไขไม่ได้ คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงแก้ไขได้ ยกตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ ก็คือ สารพิษฆ่าแมลง (ยาฆ่าแมลง) และสารพิษปราบศัตรูพืช (ยาปราบศัตรูพืช)
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเล็ก ๆ อีกหลายอย่าง เช่น มลภาวะ สิ่งแวดล้อม สามารถป้องกันได้ แก้ไขได้
การป้องกันโรคพาร์กินสัน
คนกลุ่มแรกที่เป็นห่วงคือกลุ่มคนที่ทำงานกับการใช้สารพิษฆ่าแมลง
การรับสารพิษฆ่าแมลง สารพิษปราบศัตรูพืช หลัก ๆ ทำให้เซลล์ที่ผลิตสารโดพามีนเสื่อมลง ตายลง
เมื่อสารโดพามีนลดลง ผู้ป่วยจะมีปัญหาหลักเรื่องอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า เกร็ง และเดินลำบาก ดังนั้นคนที่ใช้สารพิษฆ่าแมลงต้องป้องกันเป็นพิเศษ
1. ทำงานเกี่ยวข้องกับสารพิษฆ่าแมลง สารพิษปราบศัตรูพืชโดยตรง สิ่งที่แนะนำคือเรื่องของการใส่อุปกรณ์ป้องกัน ให้มองถึงโอกาสที่จะรับสารพิษต่าง ๆ เหล่านี้มีทางไหนบ้าง เช่น ทางการหายใจ ทางผิวหนัง หรือบางครั้งอาจจะมีการกระเด็นเข้าไปทางน้ำลาย
สิ่งสำคัญคือ การใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ค่อนข้างครบ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากป้องกันใบหน้าและศีรษะ ชุดคลุมป้องกันผิวหนังตนเอง หรืออะไรต่าง ๆ ในลักษณะนี้ เป็นต้น
ต้องคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้คนรอบข้างได้รับสารพิษต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย เมื่อเสร็จจากภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารพิษฆ่าแมลง สารพิษปราบศัตรูพืช ควรจะอาบน้ำล้างตัวให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มกินอาหารหรือกลับไปอยู่ที่บ้านกับครอบครัว เพราะบางครั้งตัวเราอาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำสารพิษเหล่านี้กลับไปที่บ้าน
2. ไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับสารพิษฆ่าแมลง สารพิษปราบศัตรูพืช บางคนคิดว่าไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับการเกษตรความเสี่ยงย่อมจะไม่มี แต่ปัจจุบันความเสี่ยงทางอ้อมมีค่อนข้างมาก
การป้องกันความเสี่ยงทางอ้อมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องอาหารและการกิน เช่น การล้างผัก การล้างผลไม้ ทำให้เป็นนิสัย หรือแม้กระทั่งการเลือกซื้ออาหารจากสถานที่ต่าง ๆ
การดูแลสุขภาพร่างกายแบบองค์รวม
การดูแลร่างกายให้ดีโดยองค์รวมเป็นปัจจัยหนึ่งในการป้องกันโรคพาร์กินสัน
1. การดูแลด้านอาหาร อาหารที่ดีสำหรับโรคสมองและโรคพาร์กินสัน ส่วนใหญ่จะอ้างอิงอาหารเมดิเตอร์เรเนียน
บรรดาอาหารเมดิเตอร์เรเนียนมักจะมีการพูดถึงธัญพืช ผัก 5 สี น้ำมันมะกอก การกินเนื้อแดงที่ค่อนข้างน้อยเป็นแนวคิดที่อยากให้ทุกคนนำมาใช้กับอาหารที่กินทุกวัน ไม่ได้บอกว่าทุกคนจะต้องกินอาหารเมดิเตอร์เรเนียน แต่การนำมาประยุกต์ก็จะมีประโยชน์
2. การออกกำลังกาย สิ่งที่สำคัญคือมีความกระตือรือร้น เคลื่อนไหวตลอดเวลา
ทุก 1 ชั่วโมง 1 ใน 3 ต้องขยับ (ขยับร่างกายทุก 20 นาที)
นอกเหนือจากการขยับทั้งวัน ต้องมีการออกกกำลังกายที่หลากหลาย และการออกกำลังกายไม่ได้มีเฉพาะการวิ่งเท่านั้น
3. การนอน ชั่วโมงของการนอนมีความสำคัญ
อย่างน้อยแนะนำให้นอนก่อน 23.00 น. คือระยะเวลานอนประมาณ 7 ชั่วโมง นอนให้ได้ยาวที่สุด สังเกตอาการว่ามีปัญหาเรื่องการนอนละเมอ การหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรน ปัสสาวะบ่อย ตอนกลางคืนหรือเปล่า เหล่านี้คือคุณภาพของการนอนที่เกี่ยวข้อง
การป้องกัน คือ การรักษาที่ดีที่สุด
ปัจจุบัน โรคพาร์กินสันมีกลไกที่ช่วยชะลอหรือแม้กระทั่งการป้องกัน หลักฐานมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือปัจจัยป้องกันเหล่านั้น “ต้องทำเป็นนิสัย ทำต่อเนื่อง”
บางครั้ง เราอาจจะไม่ได้มองว่า “การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญ” เพราะว่ายังไม่เกิด ทุกคนจะหวังว่ามันไม่เกิดก็เลยไม่ทำ หรืออาจจะไม่ได้คำนึงถึง
การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการนอนที่ดีมีสุขลักษณะสำคัญมาก ๆ จะช่วยป้องกัน และ/หรือ ช่วยชะลอโรคพาร์กินสัน รวมถึงโรคอื่น ๆ ได้ผลดีด้วย
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญในการลดโอกาสการเกิดโรคพาร์กินสันได้
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียงเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : การป้องกันปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ปัจจัยเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter